Friday, February 24, 2017

ตอนที่14 : เตรียมตัวปราบบอสใหญ่ ภาคแรก (ลุยวิทยานิพนธ์)


>>>>>>กดปุ่มเร่งเวลาไปข้างหน้าอีกนิด >>>>>>
  
พอชีวิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง เข้าเรียนวิชาต่างๆ ไปทำกิจกรรมชมรมกับเด็กป.ตรี กลับสู่ชีวิตนักศึกษาแบบเต็มตัวกันอีกครั้ง 
มีสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมลืมไปเลยในการมาเรียนครั้งนี้หลังจากที่เรียนผ่านไปได้จนเกือบจะจบเทอม 
(จริงๆลืมไปแล้วตั้งแต่เดือนแรกที่มาถึง) ก็คือ

เรื่องการทำวิทยานิพนธ์!!!

 ก็แหงสิ! เราได้ทุนมาเรียนปริญญาโทนะเฟ้ยเจ้าสิ่งนี้มันควรจะเป็นใบเบิกทางกลับไปนอนอยู่ข้างผนัง ที่บ้าน โชว์ตัวหรา ให้อีป้ออีแม่ที่บ้านตื้นตันใจว่าลูกได้นำพาวงศ์ตระกูลมาไกลถึงไต้หวัน และมันยังเป็"บอส" ตัวสุดท้ายที่จะตัดสินว่าเราสามารถจบตามหลักสูตรได้หรือไม่ หรือจะต้องจ่ายเงินเพื่อยืดอายุปีการศึกษาและวิจัยงานให้จบตามที่อาจารย์ที่ปรึกษาหมายมั่นไว้กับเรา

หลายๆคนที่สนใจอยากมาเรียนเคยถามผมว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการทำวิจัยที่ไต้หวันคืออะไร? เอาจริงๆ ผมคิดว่าแต่ละคนนั้นมองความสำคัญหรือการให้น้ำหนักในแต่ละส่วนแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดเนี่ยะ คือ  

"เราตั้งใจว่าจะทำอะไรหลังจากที่จบไปแล้ว" 

เพราะอย่างตอนที่ผมเข้ามา เอาจริงๆ ณ เวลานั้น สมองเสิงไม่ได้คิดไว้เลยว่าอยากทำเรื่องอะไร คิดซะว่าเดี๋ยวเรื่องมันก็จะโผล่ขึ้นมาเองระหว่างเรียนๆเที่ยวๆ ซึ่งจริงๆแล้วมันเป็นความคิดที่ถือว่า ได้พาตัวเองไปอยู่ในจุดเสี่ยงของชีวิตตั้งแต่แรก เพราะมีเพื่อนหลายคนที่แทบจะเอาชีวิตไม่รอด(จบไม่ตามกำหนดของทุนการศึกษาที่ได้รับ) เนื่องจากมาคิดเรื่องที่อยากทำได้ช้าจนเกินไป และกว่าจะผ่านการรับรอง ยืนยัน และสอบจบมันก็ไม่ทันเสียแล้ว
เพราะฉะนั้นในตอนนี้ ผมจะขออนุญาตแนะนำเกี่ยวกับการเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์และการเลือกอาจารย์ในการสอบวิทยานิพนธ์ในไต้หวันสำหรับหลักสูตรนานาชาติ จากประสบการณ์ส่วนตัวและเน้นในส่วนของการเรียนในภาควิชา IMBA เป็นหลักครับ

เลือกหัวข้อ
มาดูกันว่าเลือกยังไงให้ปัง ให้อาจารย์อยากเซ็นผ่านจนมือสั่น
1. เลือกหัวข้อที่เราได้เคยทำมาแล้วในสมัยปริญญาตรี หรือเป็นเรื่องที่ถนัด เป็นกูรูตัวเมพในห้องจากสมัยเรียนเป็นหลัก
สำหรับการเลือกด้วยวิธีนี้จะดีตรงที่ว่า เราสามารถเอางานวิจัย(หรือตัวโปรเจ็คจบ)สมัยปริญญาตรีมาใช้เป็นฐานไว้ต่อยอด ศึกษาต่อ เพราะนอกจากที่จะไม่ต้องเสียเวลามานั่งเทียนเขียนใหม่ตั้งแต่ต้นแล้ว เรายังสามารถขอความเมตตาจากอาจารย์ที่เคยให้คำปรึกษาเราสมัยที่เราเรียนอยู่ปริญญาตรีได้เช่นกัน หลังจากนั้นแล้วก็พุ่งตรงไปหาอาจารย์ที่สอนหรือว่าเชี่ยวชาญในเครือข่ายที่เราต้องการได้เลย ยังไง 75% อาจารย์อยากรับแน่นอนครับ
2. เลือกหัวข้อที่เรามีความสนใจส่วนตัวสูง รู้ลึก รู้จริง และมีการอัพเดตข่าวสารใหม่ๆอยู่เสมอๆ
มันแน่นอนว่าถ้าเป็นเรื่องที่เราสนใจแบบส่วนตั๊วส่วนตัว ยังไงๆ ฐานความรู้ที่เราถืออยู่ มันจะค่อนข้างแน่นกว่าเรื่องทั่วๆไปที่เรารู้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดนตรี กีฬา ท่องเที่ยว งานอดิเรกต่างๆ หากเรามองเห็นจุดที่จะสามารถเชื่อมโยงกับสาขาวิชาที่เรียนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสายงานไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง IMBA ซึ่งเน้นในเรื่องของการจัดการ ถ้าเราสามารถจับคู่ได้ดีๆ ยังไงก็สามารถเป็นหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจได้อย่างแน่นอน

**เรื่องแถม**
ส่วนตัวผมเองก็ใช้วิธีนี้ เรื่องมันเริ่มจากความบังเอิญแบบไม่ได้คาดฝันไว้ คือ มีอยู่วันหนึ่งที่ไปนั่งสนทนาพาที กินเหล้าเมาเบียร์ socialize กับเพื่อนๆในคณะอยู่ที่ 7-11หน้าหอ (ร้านค้าสะดวกซื้อที่นี่สามารถซื้อสุราเมรยะ ได้ตลอดเวลาครับ) 

7-11 ไต้หวัน มีพื้นที่พร้อมดื่ม ห้องน้ำ และทุกสิ่งอันที่ต้องการ 55555


คือร้านค้าสะดวกซื้อที่นี่ มีหลายแห่งที่จะมีห้องน้ำให้บริการอยู่ด้วย ด้วยความสนทนากันมันส์ไปหน่อย
ก็เลยต้องไปพักปลดทุกข์ที่ห้องน้ำ แต่ห้องน้ำเจ้ากรรมดันมีคนใช้อยู่เลยต้องไปต่อคิวรอ ทีนี้ระหว่างรอก็หันไปมองที่ชั้นสินค้าแล้วไปเจอชั้นวางสินค้ากลุ่มหนังสือการ์ตูน นิตยสารและเกมทั้งหลาย ด้วยความซนที่ยืนรออยู่เฉยๆไม่ได้ไง เลยไปด้อมๆมองๆ คุ้ยๆตรงชั้นวางเกมแล้วพบว่ามีเกมอยู่บนชั้นเยอะจนไม่รู้จะเลือกดูอันไหนก่อน 
ชั้นวางสินค้ากลุ่มนิตยสารและ 3cทั้งหลาย ที่มาของวิทยานิพนธ์
 
เกมที่วางขายจะมีลักษณะที่ไม่ต่างกัน เป็นเกมออนไลน์,MOBA, วางแผน,สล็อต
ปนๆกันไปส่วนใหญ่เป็นเกมที่ทำโดยบริษัทไต้หวันหรือจีน 

เลยสงสัยขึ้นมาว่า เออเว้ย ไต้หวันเนี่ยะมันดังเรื่องทำพวกแอปพลิเคชั่นมือถือ ซอฟต์แวร์ แล้วก็เกมจีนต่างๆ ซึ่งตัวเราเองก็ไม่รู้จักไง เพราะว่าโดยปกติแล้ว เกมของไต้หวันมันจะออกมาคล้ายๆกัน เป็นแบบจีนๆ วางแผนๆ แบบพวกสามก๊ก มังกรหยก อะไรนี้เห็นกันจนเบื่อ ถ้าให้คนไต้หวันแนะนำเกมให้เราเล่น มันจะแนะนำยังไง(วะ)
เท่านั้นแหล่ะ ปลดทุกข์เสร็จสรรพก็รีบพุ่งกลับห้องไปปรึกษาเฮียรูมเมทเพื่อนรัก (รูมเมทที่ผมได้จับคู่ได้บังเอิญเป็นนักศึกษาปริญญาเอกจากประเทศฟิลิปปินส์ชื่อ อิริค) ว่าเห๊ยเฮีย ผมว่าผมมีโครงการอยากทำประมาณนี้ๆๆ เรื่องเกมอย่างงี้ เอาไปเล่าให้นางฟัง นางก็บอกว่าสามารถทำได้นะต้องลองขึ้นโครงมาก่อน เท่านั้นแหล่ะ รู้ตัวอีกทีกลายเป็นวิทยานิพนธ์ตัวจบของผมไปเรียบร้อย 5555

3. เลือกจากอาจารย์ที่เป็นอาจารย์สอนเต็มเวลาในคณะและภาควิชาที่เราเรียนอยู่

วิธีนี้เป็นหนึ่งในวิธีที่สืบทอดกันมายาวนานระหว่าง นักเรียนต่างชาติที่เรียนกันมา คือเงื่อนไขมีเพียงอยู่อย่างเดียว คือเลือกอาจารย์ที่ดูจะเป็น โค้ช ที่ดูแลลูกๆในทีมได้ดีสุด ดีในที่นี้คืออะไร? ดีในที่นี้คือจากประวัติศาสตร์สถิติ คนที่เข้าไปอยู่เป็นมินเนี่ยนของเค้า สามารถจบกันออกมาได้ตรงต่อเวลาและได้แก้ไขงานของตัวเองน้อยที่สุด (แปลง่ายๆว่าเผชิญวิบากกรรมน้อยที่สุดนั่นแหล่ะ)  วิธีนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับคนที่อินดี้ หรือมีแนวความคิดเป็นของตัวเอง รู้อยู่แล้วว่าตัวเองต้องการจะทำเรื่องอะไร เพราะว่าเราจะต้องทำตามวิธีที่อาจารย์แนะนำ หรือปรับตามที่อาจารย์ต้องการ เพื่อจบตามกระบวนการที่อาจารย์เค้าคาดคะเนไว้ให้ 
คำถามต่อมาคือ จำเป็นไหมที่จะต้องเป็นอาจารย์ที่สอนเต็มเวลาในคณะเท่านั้น ?
คำตอบคือจำเป็นครับ เพราะว่าอาจารย์ที่ไม่ได้สอนเต็มเวลาเนี่ยะ หลายๆครั้งเค้าอาจจะมีภารกิจไปนู่นนี่นั่น ซึ่งเวลาเราเกิดปัญหาระหว่างการทำวิจัยขึ้นมา ชีวิตอาจถึงขั้นพังพินาศได้เพราะว่า เวลาของเรากับอาจารย์ไม่ตรงกัน และทำให้การจัดการขั้นตอนต่างๆช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นอาจารย์คณะเราดีที่สุดครับ

วิชา Production & Operation Managment โดย Prof.Don หนึ่งในสุดยอดอาจารย์ของรุ่น

คลาสแรกที่เรียนกับว่าที่อาจารย์ที่ปรึกษาในตอนนั้น Prof.Hero Lin #กราบโปรฯ
**หมายเหตุตัวโตๆ**
สำหรับวิธีนี้เทอมแรกอาจจะลองลงหลายๆวิชาที่มีอาจารย์แตกต่างกันไป เพราะว่าเราจะได้รู้ว่าเราชอบเรื่องแนวไหน สไตล์การสอนของอาจารย์คนไหน แล้วจะได้ดูว่าคนไหนเหมาะเป็นโค้ชของเราที่สุด
เคล็ดไม่ลับในการขออาจารย์ที่อยากให้เป็นที่ปรึกษามาเป็นที่ปรึกษา หลังจากที่เลือกได้แล้วว่าอยากให้อาจารย์คนไหนมาเป็นที่ปรึกษา
3.1 ลงวิชาที่อาจารย์สอนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจวิธีการอธิบาย แนวคิด หรือความเห็นของท่านในมุมมองต่างๆ และเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสนใจสาขาที่ท่านสอนจริงๆนะ
3.2 ตั้งใจเรียน พยายามให้ความร่วมมือในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ ตอบคำถาม ทำกิจกรรมต่างๆอย่างเต็มที่ เพื่อให้อาจารย์จดจำเราได้และสนใจในตัวเรา
3.3 ลงมือก่อนคนอื่น
พอเรารู้ว่าอยากทำเรื่องอะไรและได้คอนเส็ปโครงเรื่องโดยรวมแล้ว ติดต่ออาจารย์ไปเลย ถือคติที่ว่า ลงมือก่อนได้เปรียบ เพราะอาจารย์จะได้มองเห็นว่าเราสนใจในหัวข้อและสาขาที่อาจารย์สอนอยู่จริงๆ
4.4 สุดท้ายแล้วคือตั้งใจทำงานวิจัยส่งให้อาจารย์ดูอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดช่วง อาจารย์จะได้ช่วยสงเคราะห์ให้เราได้จบๆไปอย่างรวดเร็ว

ซึ่งนอกจากวิธีข้างบนแล้ว ที่เหลือก็จะขึ้นอยู่กับความลึกตื้นหนาบางของหัวข้อที่เราต้องการ วิจารณญาณของอาจารย์แล้วก็ดวงของผู้ท้าชิงทุกท่านกันแล้วล่ะฮะ แล้วเดี๋ยวผมจะกลับมาต่อกันในครึ่งหลังว่า หลังจากที่เลือกอาจารย์และได้หัวข้อและทำวิทยานิพนธ์กันไปแล้ว ซึ่งผมจะขอข้ามขั้นตอนการทำไปเพราะว่าแต่ละมหาวิทยาลัยที่นี่มีขั้นตอนในการทำของทั้งรูปแบบการทำและสไตล์การทำของอาจารย์แต่ละท่านจะแตกต่างกันออกไปค่อนข้างชัดเจน  โดยเราจะมาดูกันว่าตอนเตรียมตัวสอบจบจะต้องทำยังไงกันต่อบ้างในตอนต่อไป อย่าพึ่งเบื่อกันครับ:)

Highlight Summary:
- การเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์สำคัญ เลือกผิดชีวิตเปลี่ยนถึงขั้นเรียนไม่จบได้
พยายามเลือกหัวข้อที่เราเชี่ยวชาญหรือจากความชอบส่วนตัวเป็นหลัก

- เลือกอาจารย์เหมือนเลือกโค้ช สไตล์แต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป 
อยากได้ตีสิสยังไง หรืออยากให้ทางเดินระหว่างทำตีสิสเป็นยังไง ต้องเลือกให้ดี ให้เหมาะกับตัวเอง
- คิดได้ก่อน ได้เริ่มทำก่อน ลุยก่อน จบก่อน ไม่ต้องไฟลนก้นเพราะอาจารย์บางคนดูแลเด็กดี บางคนถือว่าเด็กโตแล้วต้องรับผิดชอบตัวเอง


ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนและรูปประกอบจากGoogle

ติชมก่นด่าชอบแชร์ บอกได้คุยได้ครับบ :) 
ตามไปดูชีวิตไร้สาระประจำวันของคนเขียนได้ที่ Instragram: @puipuiiadventure