Thursday, September 7, 2017

ตอนที่15 : เตรียมตัวปราบบอสใหญ่ ภาคจบ (ปัจฉิมบทรั้วมหาวิทยาลัย)



ทำไมอาจารย์เลือกเด็กคนอื่นแต่ไม่เลือกเรา(วะ)!!??!?

 
หลังจากบทก่อนหน้านี้ เราได้เล็งอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งจะมาเป็นโค้ชให้เราในการทำวิทยานิพนธ์แล้ว
ใจความที่สำคัญสุด คือการตอบรับจากอาจารย์ แน่นอนว่าอาจารย์แต่ละคนมีเงื่อนไขและหลักในการเลือกเด็กที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะงงๆว่า แล้วอย่างี้จะต้องทำยังไง อาจารย์ถึงจะเซย์เยสให้กับการถวาย เอ๊ย เสนอตัวเข้าเป็น advisee???

ซึ่งผมจะขอแบ่งคร่าวๆเป็น 3 แบบตามประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองดังนี้

1. หัวข้อที่เลือกทำ
หัวข้อที่เลือกทำนั้น เป็นส่วนสำคัญทั้งในมุมของอาจารย์และนักศึกษา เพราะว่าอาจารย์หลายคนจะเลือกนักศึกษาตามหัวข้อหรือเรื่องที่ตัวเองมีพื้นฐานหรือเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาได้รับแนวทางที่ค่อนข้างจะชัดเจนและสามารถเลือกใช้งานวิจัยสนับสนุนการเขียนของตนเองได้อย่างแม่นยำ ตรงประเด็น รวมไปถึงแนวโน้มในอนาคต ที่งานวิจัยนั้นๆ สามารถพัฒนาไปเป็นงานวิจัยที่ตัวอาจารย์เอง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ (ทำเป็น publication) ได้อีกเช่นกัน
กรณีตัวอย่าง
อย่างกรณีของนักศึกษาบางคนที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับการเลือกที่พักทางเลือก(โฮสเทล Airbnb ฯลฯ) และอาจารย์ที่ปรึกษากำลังศึกษาเรื่องดังกล่าวในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจารย์จะมีแนวโน้มที่สนใจหัวข้อและงานของเรา เนื่องจากสามารถนำผลงานวิจัยของเราเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงานเขียน งานวิจัยของอาจารย์เอง หรือในอนาคต หากนักศึกษาต้องการเป็นนักวิจัยในอนาคต ก็สามารถทำงานร่วมกับอาจารย์โดยต่อยอดงานวิจัยดังกล่าวเป็นงานวิจัยที่เขียนร่วมกับอาจารย์ก็ได้ 

2. บุคลิก คุณลักษณะ และความรับผิดชอบของตัวนักศึกษา
อาจารย์หลายๆท่านจะเลือกเด็กตามความรับผิดชอบในห้องเรียน ตัวตนและ ลักษณะนิสัยของเด็กคนนั้นๆที่เห็นทั้งในและนอกห้องเรียน ว่าไปในทิศทางเดียวกันกับอาจารย์หรือไม่(แปลง่ายๆว่าสไตล์การสื่อสารเข้ากันได้รึเปล่านั่นแหล่ะ) คิดง่ายๆว่า ถ้าเราเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เราก็อยากได้เด็กที่ฟังความคิดเห็นของเรา และทำการบ้านที่เราสั่งและส่งงานตามเวลาอย่างเคร่งครัดมากกว่าเด็กที่มีสไตล์สุดโต่ง ขาดเรียนบ่อย สอบตก หรือไม่ส่งงานตามกำหนด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจารย์สามารถประเมิน ความรับผิดชอบ ของตัวนักศึกษาเนื่องจาก การทำวิทยานิพนธ์นั้นเป็นเรื่องที่นักศึกษาจะต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองสูง ไม่ว่าการที่จะต้องเขียน หาข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวบรวมตัวอย่าง ทดสอบและทดลอง แปลผล และสรุปผลเอง ซึ่งอาจารย์จะไม่เข้ามายุ่งในส่วนวิธีการทำส่วนใหญ่ ซึ่งอาจารย์จะช่วยในส่วนเฉพาะของการแนะนำและประเมินว่าควรสอบหรือไม่สอบจบเท่านั้น

3. อื่นๆ
อ่าว งงละสิ ทำไมผมถึงมีส่วนนี้ออกมา 555 ในส่วนนี้จริงๆแล้วมันมีที่มาที่ไปฮะ
จากประสบการณ์ส่วนตัวตอนที่เรียนอยู่  ตอนอยู่ในช่วงที่กำลังไล่ล่าหาเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ 
ก็ได้ยินจากเพื่อนๆหลายคนบ่นกันระงมเป็นช่วงเวลาใหญ่ๆ ว่าอาจารย์ไม่ยอมรับสักที หรือว่าทำไมอาจารย์บางท่านเลือกเด็กอีกคนหนึ่งแต่ไม่เลือกมัน หลายๆคนอาจจะคิดว่า เด็กบางคนอาจจะมีการเล่นของ ไม่แน่ว่ากุมารทองจากประเทศกลุ่มแอฟริกาใต้อาจจะแข็งแกร่งบัฟกล้ามกว่ากุมารของบ้านเรา หรือว่าอาจจะมีสาลิกาพันธุ์ยุโรปที่ลิ้นทองกว่าบ้านเรา (ถุ๊ยย!!!)
 ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม อาจารย์บางท่าน อาจเลือกเด็กตามสไตล์ที่ตนเองชอบ หรือเชื่อมโยงกันในด้านอื่นๆ เช่นอาจารย์เลือกรับเด็กคนหนึ่ง ที่ไม่ได้เก่งทางวิชาการมาก แต่เป็นเด็กที่เก่งในเรื่องกิจกรรม หรือทำงานเป็นทีม มากกว่าเด็กอีกคนหนึ่งซึ่งเรียนเก่ง ขยัน+active ในห้องเรียน แต่เป็นเด็กที่ไม่รู้จักการทำงานเป็นทีม อาจารย์อาจจะมองเห็นบางอย่างในตัวเด็กคนแรกซึ่งสามารถเลือกหัวข้อที่น่าสนใจ มีความคิดและวิธีการคิดที่น่าสนใจกว่าเด็กอีกคนหนึ่ง ทำให้อาจารย์ตัดสินใจที่จะเลือกเด็กอีกคนมากกว่า 
ดังนั้นอาจารย์แต่ละคนจะมีเงื่อนไขในการรับเด็กที่ต่างกันออกไป ผมแนะนำให้สอบถามจากรุ่นพี่ที่เรียนมาก่อนในเทอมแรกที่เราเข้ามาเรียน เพื่อดูว่าอาจารย์มักจะเลือกเด็กประเภทไหน หรือว่ามีเคล็ดวิชาอะไรที่ทำให้เราได้รับการเลือกเป็นหนึ่งในทีมของอาจารย์คนนั้นๆ

โดยหลังจากที่เซ็นสัญญากับอาจารย์เข้าเป็นนักเตะ เอ๊ย เป็น Advisee กับ Advisor กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนในการทำวิจัยจะแบ่งออกเป็นภาคแบบย่อๆดังนี้ครับ

1. ขึ้นโครงร่าง รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่และอยากทำอะไร
2. อ่าน เขียน อ่าน เขียน
3. สรุปผลครึ่งแรก
4. สอบ Proposal Defense + แก้ไข
5. เก็บตัวอย่าง/ลงภาคสนาม/ทดสอบ
6. รวบรวมข้อมูล ประเมินและสรุปผล
7. สอบ Final Defense และลง Final touch 

ซึ่งรูปแบบและวิธีการในขั้นตอนต่างๆหลังจากนี้นั้น เป็นส่วนที่แต่ละคนต้องไปบู๊ล้างผลาญกัน เติมเต็มประสบการณ์ชีวิตของตัวเองให้เต็มที่ เพราะจะต้องจัดระเบียบการเรียน กิจกรรม และการทำธีสิสให้ดีมากๆ โดยมีแต่ตัวเองเท่านั้นที่จะคอยผลักและถีบส่งตัวเองให้เขียนวิจัยส่วนนี้ให้ออกมาสำเร็จเป็นรูปร่าง เป็นการเรียนแบบ ส.ป.ช.อย่าง"แท้จริง" ที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว และไม่มีทางลัดที่แน่นอน

สิ่งที่ผมแนะนำได้ในส่วนของการเขียนวิทยานิพนธ์คงมีเพียงเท่านี้ครับ;

1. อ่านมันเข้าไป 
ข้อมูลที่เราจะเอามาเขียนส่วนใหญ่จะใช้อ้างอิงมาจากงานวิจัยของคนที่เคยวิจัยมาก่อนหน้า และหนังสือทฤษฎีที่นักวิชาการเคยเขียนเอาไว้ หลายๆงานที่เราอ่าน เพื่อเอาแนวคิดและดูความคืบหน้าของงานวิจัยสายนั้นๆ โดยไม่แน่ว่าอ่านไปอ่านมา อาจจะทำให้ได้หัวข้อของตัวเองมาแบบงงๆ พยายามดูตัวแปรที่เค้าใช้ในการประเมิน ความเชื่อมโยงในแต่ละส่วนของเนื้อหา และที่มาของงานวิจัย จะทำให้เราสามารถกรองเฉพาะส่วนที่เราต้องการได้อย่างครบถ้วน

2. จับประเด็น
ดูว่าเรื่องที่เราอยากทำนั้น มีใครเคยทำบ้าง หรือมีประเด็นไหนที่เคยมีคนทำแล้วบ้าง แล้วทำการเขียนแผนภูมิความคิดขึ้นมา หรือ"ขึ้นรูป" งานวิจัยของตัวเองขึ้นมาว่า เกิดจากอะไร ต้องการทดสอบอะไร แล้วคาดหวังผลงานวิจัยออกมาให้เป็นรูปแบบไหน เพราะหากเขียนแผนภูมิขึ้นมาแล้ว จะทำให้การแบ่งเรื่องที่ต้องอ่านเพิ่ม รวมไปถึงชิ้นส่วนที่ขาดหาย ถูกเติมเต็มขึ้นมาง่ายขึ้น

3. เลือกในสิ่งที่ชอบ
ย้ำอีกครั้งในส่วนนี้ เพราะว่าเราจะต้องถูกจองจำกับเรื่องนี้หัวข้อนี้เป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน หรืออาจจะยาวถึง 1 ปี พยายามเลือกเรื่องที่เรามีความสนใจจริงๆ หรือสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต จะช่วยให้งานวิจัยดูมีความ ล้ำค่าในสายตาของเราขึ้นมา อย่าเลือกหัวข้อที่อาจารย์เลือกให้ เพราะบางครั้งตัวเราเองจะไม่เข้าใจในความสำคัญของตัวงาน และอาจจะโดนเชือดทิ้งตอน Proposal/Final defense ได้  

4. อย่าหยุด
เพราะว่าระหว่างทางที่เริ่มเขียนวิทยานิพนธ์ หลายๆคนก็อาจจะมีตัวเรียนที่น้อยลง รวมไปถึงความคุ้นเคยต่อสภาพแวดล้อมที่อยู่มากขึ้น จึงทำให้ทุกอย่างแลดูเริ่มสวยงามขึ้นในสายตาของเรา แต่อย่าครับ อย่าไปหลงกลมัน มันคือ Hotel California ที่เราจะเริ่มต๊ะต่อนยอนไปกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า โอ้ว ฤดูใบไม้ผลิมาแล้ว เราต้องออกไปเที่ยวเล่น เราต้องออกไปผจญภัยในโลกแห่งใหม่ที่เกาะ Formosa~ 
ใช่ครับ ผมเห็นด้วยว่า เราต้องหาประสบการณ์ชีวิตอยู่เสมอ เพราะตอนนี้เราไม่ได้อยู่ที่บ้านเกิดเมืองนอนเรา แต่ต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า อย่าสบายตอนนี้ลำบากตอนหน้า พยายามตั้งเป้าให้ตัวเองอยู่เสมอ เช่นจะอ่านงานวิจัยให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 งาน นั่งเขียนอย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง ทุกๆวัน เพราะถ้าหากไม่ทำแล้ว รู้ตัวอีกที อาจจะต้องอดหลับอดนอน นั่งเขียนนอนเขียน ตีลังกาเขียน และงานที่ออกมาก็ต้องแก้แล้วแก้อีก เพราะว่าทำไม่ได้อย่างที่เราคาดหวัง ยังไม่รวมอุปสรรคในด้านภาษาในการเขียน ผลการวิจัย ผลการสำรวจ กลุ่มตัวอย่าง การตีความ และแก้ตามความเห็นของอาจารย์ ขอแนะนำเลยว่าเข้าช่วง ปลายเทอม 2 ของปีแรก ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะหาหัวข้อและอาจารย์ที่ปรึกษา และจับอาจารย์เซ็นสัญญาให้ได้ เพราะเราจะได้เริ่มทำวิจัยตั้งแต่ต้นเทอมแรกของปีที่ 2 และอย่างน้อยที่สุด เราจะสามารถทำเรื่อง proposal defense ให้เสร็จได้ก่อนที่ เทอมแรกในปีที่ 2 ของเราจะสิ้นสุดลง และจะทำให้เรามีเวลาที่จะเก็บข้อมูล สรุปผล และแก้งานให้เสร็จก่อนจะทำการ final defense ในปลายเทอมสุดท้าย เพราะฉะนั้น ชาวเราเอ๋ย อย่าขี้เกียจอยู่ไย รีบตั้งเป้าให้ตัวเองแล้ว หนีบคอมพิวเตอร์ไประหว่างเที่ยว เพื่อทำงานด้วยเอย ฮุยเลฮุยยย!!!




สำหรับคนที่คิดจะหาทางลัดเพื่อให้หลุดพ้นจากวิบากกรรมครั้งนี้เช่นจ้างให้คนอื่นทำ ผมขอเตือนไว้เลยว่า อย่าคิดที่จะทำทางลัดครับ เพราะเงินที่ได้มา ไม่คุ้มกับผลที่ตามมา มีเด็กหลายๆคนที่ให้เพื่อนคนอื่นทำงานวิจัยให้แล้วจ่ายเงินเป็นก้อน แม้ว่าจะทำการบรีฟกับคนที่ทำงานให้มามากแค่ไหน สุดท้ายแล้วก็โดนเจี๋ยนทิ้งกลางงาน proposal ก็มีมาแล้วครับ (โดนอาจารย์ที่เข้า proposal defense ไล่ให้กลับไปเขียนใหม่หมดตั้งแต่ต้น) นอกจากจะเสียความรู้สึกแล้ว ยังเสียเวลาอีกด้วย ถือว่าไม่คุ้มเลย
ผมเองก็เคยมีประสบการณ์ทำนองนี้มาเหมือนกัน หลังจากที่ทุกอย่างผ่านพ้นไปแล้ว แม้ว่าเราจะรอดตายออกมาได้ แต่มันก็ทำให้เราหมดความภาคภูมิใจในตัวเอง รวมไปถึงความน่าเชื่อถือจากคนรอบข้างอีกด้วย ถ้าคิดที่จะทำ ถือว่าผมขอหล่ะ อย่าเลย มันไม่คุ้มที่จะเสี่ยงครับ 

โดยสำหรับส่วนรายละเอียดปลีกย่อยในส่วนของการเตรียมตัวและสอบจบผมขอทำเป็นสรุปย่อยเป็นข้อๆ เพราะว่าไม่แน่ใจว่าของมหาวิทยาลัยอื่นจะเป็นเหมือนกันรึเปล่า

- ตรวจสอบว่า core courses ของเรา หน่วยกิตของเรา ลงครบสามารถสอบจบได้แล้วหรือยัง
- นัดอาจารย์ที่เป็น committees ได้ครบหมดก่อนสอบ proposal และสอบจบให้ได้อย่างช้าสุด 1 สัปดาห์ล่วงหน้า
- อย่าลืมเตรียมของว่าง ข้าวไว้ให้สำหรับอาจารย์ที่เข้าร่วมสอบ โดยอาจจะเตี๊ยมกับเพื่อนที่สอบในวันเดียวกัน จะได้มีขนมให้อาจารย์ที่ไหม่เหมือนกัน แนะนำให้ถามอาจารย์ก่อนด้วยว่ามีอะไรที่ทานไม่ได้บ้างรึเปล่า 
- พยายามพรีเซนต์ให้เหมือนตัวเองกำลังเล่าเรื่องให้อาจารย์ฟัง ตอน proposal ส่วนใหญ่จะโดนกันเรื่องโครงสร้าง การตั้งสมมุติฐานและตัวแปร 
- ตอนสอบจบ พยายามโฟกัสผลที่เราไปทำมาเป็นหลัก ส่วนใหญ่ที่เห็นกันจะเป็นเรื่องของผลที่ได้ ข้อสรุป และการตีความ 
- สอบจบแล้วบางที่ จะบอกคะแนนให้รู้ บางที่จะไม่บอก (ของเฉิงต้าจะไม่บอก ต้องแอบถามกันอีกที)
- ส่วนใหญ่งานรับปริญญาจะถูกจัดขึ้นก่อนที่จะสอบจบเสร็จจริงๆ มันก็จะแปลกหน่อยๆ
- อย่าลืมเช็คว่าวันที่สอบจบนั้นยังอยู่ในขอบของเทอมสุดท้ายอยู่รึเปล่า เพราะหากผิดพลาดขึ้นมา อาจจะต้องถูกเลื่อนไปช่วงซัมเมอร์แทน


สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดสำหรับบทนี้ ขอให้ทุกคนโชคดี และมีความสุขกับชีวิตนักศึกษาในไต้หวันครับ:)

ภาพตอนโดนเจื๋อน Final defense, Credit:พี่เซิน
Highlight Summary:
- อาจารย์ผิด หัวข้อผิด ชีวิตเปลี่ยน อาจารย์จะเลือกเด็กที่ดูเค้ากับเค้าได้ ตัวเราก็เช่นกัน
- พยายามกะเวลาในการทำให้ดี เพราะระหว่างทางต้องมีการแก้ไขอีกนับไม่ถ้วนรออยู่
-ใจความสำคัญหลักคือ อย่าหยุดทำ ต้องดันตัวเองให้ได้ตลอดรอดฝั่ง ขี้เกียจคือชีวิตจบ



สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด

สารภาพตามตรงว่า ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมีคนหลงเข้ามาอ่านเยอะขนาดนี้ และต้องขออภัยสำหรับหลายๆคนที่ติดตามมา แล้วผมก็จะมาๆหายๆ ในช่วงหลังๆ เพราะเปลี่ยนงาน และต้องเดินทางบ่อยๆ เลยทำให้ไม่มีจังหวะที่จะมานั่งเทียนเขียนเหมือนช่วงที่เรียนอยู่สักเท่าไหร่ แรกเริ่มเดิมทีตอนที่เขียนบล็อคนี้ขึ้นมาเพราะมีเพื่อนๆพี่ๆน้องๆหลายคนสอบถามกันเข้ามาเกี่ยวกับการเรียนและใช้ชีวิตที่ไต้หวัน ประกอบกับตอนที่ตัวเองมาเรียน ด้วยความที่ง่อยในภาษาจีนมาก บวกกับในตอนนั้นแทบจะหาข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเมือง+ข้อมูลมหาลัยแทบจะไม่ได้เลย (ยกเว้นใน TSAT+TSA) เลยทำให้การใช้ชีวิตช่วงแรกๆนี่ค่อนข้างจะสมบุสมบันพอสมควร โชคดีที่ยังมีพี่ๆเพื่อนๆที่มหาวิทยาลัยช่วยประคับประคองกันให้ใช้ชีวิตผ่านกันไปได้ เลยอยากจะใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นเหมือน ข้อมูลอ้างอิง หนังสือ บันทึกชีวิตที่คอยช่วยเหลือให้เด็กรุ่นใหม่ น้องๆที่อยากไปเรียนต่อไต้หวัน ได้มีข้อมูลไว้ใช้ในการอ้างอิงหรือว่าให้เห็นภาพว่าการใช้ชีวิต หรือว่า การเรียนในไต้หวันในอีกมุมหนึ่งเป็นยังไง ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยเขียนอะไรเลย นอกจากเห็นงานจากของรุ่นพี่ที่รู้จักคนหนึ่ง (หมอเก๋อ คัมภีร์ เจ้าของผลงาน 'หิมาลัยต้องใช้หูฟัง' และ 'Greenland Skylight') และรู้สึกว่ามีไฟขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบัน นโยบายของประเทศไต้หวันนั้น ได้มีทุนการศึกษามากมายไว้รองรับนักเรียน นักศึกษาต่างชาติอย่างเราๆเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก
ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากใครได้หลวมตัว หรือหลุดมาเจอบล็อกของผม จะสามารถช่วยเหลือและให้ข้อมูลให้แก่ทุกๆคนได้ ไม่มากก็น้อยครับ  

หลังจากนี้ ผมเองยังคงที่จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับไต้หวันต่อ และการใช้ชีวิตในส่วนอื่นๆ รวมไปถึงแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวในประเทศต่างๆตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่และทำงานแล้ว เผื่อว่ามีทริปไหนที่เพื่อนๆพี่ๆน้องๆอยากไปจัดกันในระหว่างที่เรียนอยู่ที่ไต้หวันกันครับ   

ขอบคุณทุกท่านมากๆครัช!!!!


ปุ้ย

ตามไปดูชีวิตไร้สาระประจำวันของคนเขียนได้ที่ Instragram: @puipuiiadventure






Friday, February 24, 2017

ตอนที่14 : เตรียมตัวปราบบอสใหญ่ ภาคแรก (ลุยวิทยานิพนธ์)


>>>>>>กดปุ่มเร่งเวลาไปข้างหน้าอีกนิด >>>>>>
  
พอชีวิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง เข้าเรียนวิชาต่างๆ ไปทำกิจกรรมชมรมกับเด็กป.ตรี กลับสู่ชีวิตนักศึกษาแบบเต็มตัวกันอีกครั้ง 
มีสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมลืมไปเลยในการมาเรียนครั้งนี้หลังจากที่เรียนผ่านไปได้จนเกือบจะจบเทอม 
(จริงๆลืมไปแล้วตั้งแต่เดือนแรกที่มาถึง) ก็คือ

เรื่องการทำวิทยานิพนธ์!!!

 ก็แหงสิ! เราได้ทุนมาเรียนปริญญาโทนะเฟ้ยเจ้าสิ่งนี้มันควรจะเป็นใบเบิกทางกลับไปนอนอยู่ข้างผนัง ที่บ้าน โชว์ตัวหรา ให้อีป้ออีแม่ที่บ้านตื้นตันใจว่าลูกได้นำพาวงศ์ตระกูลมาไกลถึงไต้หวัน และมันยังเป็"บอส" ตัวสุดท้ายที่จะตัดสินว่าเราสามารถจบตามหลักสูตรได้หรือไม่ หรือจะต้องจ่ายเงินเพื่อยืดอายุปีการศึกษาและวิจัยงานให้จบตามที่อาจารย์ที่ปรึกษาหมายมั่นไว้กับเรา

หลายๆคนที่สนใจอยากมาเรียนเคยถามผมว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการทำวิจัยที่ไต้หวันคืออะไร? เอาจริงๆ ผมคิดว่าแต่ละคนนั้นมองความสำคัญหรือการให้น้ำหนักในแต่ละส่วนแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดเนี่ยะ คือ  

"เราตั้งใจว่าจะทำอะไรหลังจากที่จบไปแล้ว" 

เพราะอย่างตอนที่ผมเข้ามา เอาจริงๆ ณ เวลานั้น สมองเสิงไม่ได้คิดไว้เลยว่าอยากทำเรื่องอะไร คิดซะว่าเดี๋ยวเรื่องมันก็จะโผล่ขึ้นมาเองระหว่างเรียนๆเที่ยวๆ ซึ่งจริงๆแล้วมันเป็นความคิดที่ถือว่า ได้พาตัวเองไปอยู่ในจุดเสี่ยงของชีวิตตั้งแต่แรก เพราะมีเพื่อนหลายคนที่แทบจะเอาชีวิตไม่รอด(จบไม่ตามกำหนดของทุนการศึกษาที่ได้รับ) เนื่องจากมาคิดเรื่องที่อยากทำได้ช้าจนเกินไป และกว่าจะผ่านการรับรอง ยืนยัน และสอบจบมันก็ไม่ทันเสียแล้ว
เพราะฉะนั้นในตอนนี้ ผมจะขออนุญาตแนะนำเกี่ยวกับการเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์และการเลือกอาจารย์ในการสอบวิทยานิพนธ์ในไต้หวันสำหรับหลักสูตรนานาชาติ จากประสบการณ์ส่วนตัวและเน้นในส่วนของการเรียนในภาควิชา IMBA เป็นหลักครับ

เลือกหัวข้อ
มาดูกันว่าเลือกยังไงให้ปัง ให้อาจารย์อยากเซ็นผ่านจนมือสั่น
1. เลือกหัวข้อที่เราได้เคยทำมาแล้วในสมัยปริญญาตรี หรือเป็นเรื่องที่ถนัด เป็นกูรูตัวเมพในห้องจากสมัยเรียนเป็นหลัก
สำหรับการเลือกด้วยวิธีนี้จะดีตรงที่ว่า เราสามารถเอางานวิจัย(หรือตัวโปรเจ็คจบ)สมัยปริญญาตรีมาใช้เป็นฐานไว้ต่อยอด ศึกษาต่อ เพราะนอกจากที่จะไม่ต้องเสียเวลามานั่งเทียนเขียนใหม่ตั้งแต่ต้นแล้ว เรายังสามารถขอความเมตตาจากอาจารย์ที่เคยให้คำปรึกษาเราสมัยที่เราเรียนอยู่ปริญญาตรีได้เช่นกัน หลังจากนั้นแล้วก็พุ่งตรงไปหาอาจารย์ที่สอนหรือว่าเชี่ยวชาญในเครือข่ายที่เราต้องการได้เลย ยังไง 75% อาจารย์อยากรับแน่นอนครับ
2. เลือกหัวข้อที่เรามีความสนใจส่วนตัวสูง รู้ลึก รู้จริง และมีการอัพเดตข่าวสารใหม่ๆอยู่เสมอๆ
มันแน่นอนว่าถ้าเป็นเรื่องที่เราสนใจแบบส่วนตั๊วส่วนตัว ยังไงๆ ฐานความรู้ที่เราถืออยู่ มันจะค่อนข้างแน่นกว่าเรื่องทั่วๆไปที่เรารู้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดนตรี กีฬา ท่องเที่ยว งานอดิเรกต่างๆ หากเรามองเห็นจุดที่จะสามารถเชื่อมโยงกับสาขาวิชาที่เรียนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสายงานไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง IMBA ซึ่งเน้นในเรื่องของการจัดการ ถ้าเราสามารถจับคู่ได้ดีๆ ยังไงก็สามารถเป็นหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจได้อย่างแน่นอน

**เรื่องแถม**
ส่วนตัวผมเองก็ใช้วิธีนี้ เรื่องมันเริ่มจากความบังเอิญแบบไม่ได้คาดฝันไว้ คือ มีอยู่วันหนึ่งที่ไปนั่งสนทนาพาที กินเหล้าเมาเบียร์ socialize กับเพื่อนๆในคณะอยู่ที่ 7-11หน้าหอ (ร้านค้าสะดวกซื้อที่นี่สามารถซื้อสุราเมรยะ ได้ตลอดเวลาครับ) 

7-11 ไต้หวัน มีพื้นที่พร้อมดื่ม ห้องน้ำ และทุกสิ่งอันที่ต้องการ 55555


คือร้านค้าสะดวกซื้อที่นี่ มีหลายแห่งที่จะมีห้องน้ำให้บริการอยู่ด้วย ด้วยความสนทนากันมันส์ไปหน่อย
ก็เลยต้องไปพักปลดทุกข์ที่ห้องน้ำ แต่ห้องน้ำเจ้ากรรมดันมีคนใช้อยู่เลยต้องไปต่อคิวรอ ทีนี้ระหว่างรอก็หันไปมองที่ชั้นสินค้าแล้วไปเจอชั้นวางสินค้ากลุ่มหนังสือการ์ตูน นิตยสารและเกมทั้งหลาย ด้วยความซนที่ยืนรออยู่เฉยๆไม่ได้ไง เลยไปด้อมๆมองๆ คุ้ยๆตรงชั้นวางเกมแล้วพบว่ามีเกมอยู่บนชั้นเยอะจนไม่รู้จะเลือกดูอันไหนก่อน 
ชั้นวางสินค้ากลุ่มนิตยสารและ 3cทั้งหลาย ที่มาของวิทยานิพนธ์
 
เกมที่วางขายจะมีลักษณะที่ไม่ต่างกัน เป็นเกมออนไลน์,MOBA, วางแผน,สล็อต
ปนๆกันไปส่วนใหญ่เป็นเกมที่ทำโดยบริษัทไต้หวันหรือจีน 

เลยสงสัยขึ้นมาว่า เออเว้ย ไต้หวันเนี่ยะมันดังเรื่องทำพวกแอปพลิเคชั่นมือถือ ซอฟต์แวร์ แล้วก็เกมจีนต่างๆ ซึ่งตัวเราเองก็ไม่รู้จักไง เพราะว่าโดยปกติแล้ว เกมของไต้หวันมันจะออกมาคล้ายๆกัน เป็นแบบจีนๆ วางแผนๆ แบบพวกสามก๊ก มังกรหยก อะไรนี้เห็นกันจนเบื่อ ถ้าให้คนไต้หวันแนะนำเกมให้เราเล่น มันจะแนะนำยังไง(วะ)
เท่านั้นแหล่ะ ปลดทุกข์เสร็จสรรพก็รีบพุ่งกลับห้องไปปรึกษาเฮียรูมเมทเพื่อนรัก (รูมเมทที่ผมได้จับคู่ได้บังเอิญเป็นนักศึกษาปริญญาเอกจากประเทศฟิลิปปินส์ชื่อ อิริค) ว่าเห๊ยเฮีย ผมว่าผมมีโครงการอยากทำประมาณนี้ๆๆ เรื่องเกมอย่างงี้ เอาไปเล่าให้นางฟัง นางก็บอกว่าสามารถทำได้นะต้องลองขึ้นโครงมาก่อน เท่านั้นแหล่ะ รู้ตัวอีกทีกลายเป็นวิทยานิพนธ์ตัวจบของผมไปเรียบร้อย 5555

3. เลือกจากอาจารย์ที่เป็นอาจารย์สอนเต็มเวลาในคณะและภาควิชาที่เราเรียนอยู่

วิธีนี้เป็นหนึ่งในวิธีที่สืบทอดกันมายาวนานระหว่าง นักเรียนต่างชาติที่เรียนกันมา คือเงื่อนไขมีเพียงอยู่อย่างเดียว คือเลือกอาจารย์ที่ดูจะเป็น โค้ช ที่ดูแลลูกๆในทีมได้ดีสุด ดีในที่นี้คืออะไร? ดีในที่นี้คือจากประวัติศาสตร์สถิติ คนที่เข้าไปอยู่เป็นมินเนี่ยนของเค้า สามารถจบกันออกมาได้ตรงต่อเวลาและได้แก้ไขงานของตัวเองน้อยที่สุด (แปลง่ายๆว่าเผชิญวิบากกรรมน้อยที่สุดนั่นแหล่ะ)  วิธีนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับคนที่อินดี้ หรือมีแนวความคิดเป็นของตัวเอง รู้อยู่แล้วว่าตัวเองต้องการจะทำเรื่องอะไร เพราะว่าเราจะต้องทำตามวิธีที่อาจารย์แนะนำ หรือปรับตามที่อาจารย์ต้องการ เพื่อจบตามกระบวนการที่อาจารย์เค้าคาดคะเนไว้ให้ 
คำถามต่อมาคือ จำเป็นไหมที่จะต้องเป็นอาจารย์ที่สอนเต็มเวลาในคณะเท่านั้น ?
คำตอบคือจำเป็นครับ เพราะว่าอาจารย์ที่ไม่ได้สอนเต็มเวลาเนี่ยะ หลายๆครั้งเค้าอาจจะมีภารกิจไปนู่นนี่นั่น ซึ่งเวลาเราเกิดปัญหาระหว่างการทำวิจัยขึ้นมา ชีวิตอาจถึงขั้นพังพินาศได้เพราะว่า เวลาของเรากับอาจารย์ไม่ตรงกัน และทำให้การจัดการขั้นตอนต่างๆช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นอาจารย์คณะเราดีที่สุดครับ

วิชา Production & Operation Managment โดย Prof.Don หนึ่งในสุดยอดอาจารย์ของรุ่น

คลาสแรกที่เรียนกับว่าที่อาจารย์ที่ปรึกษาในตอนนั้น Prof.Hero Lin #กราบโปรฯ
**หมายเหตุตัวโตๆ**
สำหรับวิธีนี้เทอมแรกอาจจะลองลงหลายๆวิชาที่มีอาจารย์แตกต่างกันไป เพราะว่าเราจะได้รู้ว่าเราชอบเรื่องแนวไหน สไตล์การสอนของอาจารย์คนไหน แล้วจะได้ดูว่าคนไหนเหมาะเป็นโค้ชของเราที่สุด
เคล็ดไม่ลับในการขออาจารย์ที่อยากให้เป็นที่ปรึกษามาเป็นที่ปรึกษา หลังจากที่เลือกได้แล้วว่าอยากให้อาจารย์คนไหนมาเป็นที่ปรึกษา
3.1 ลงวิชาที่อาจารย์สอนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจวิธีการอธิบาย แนวคิด หรือความเห็นของท่านในมุมมองต่างๆ และเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสนใจสาขาที่ท่านสอนจริงๆนะ
3.2 ตั้งใจเรียน พยายามให้ความร่วมมือในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ ตอบคำถาม ทำกิจกรรมต่างๆอย่างเต็มที่ เพื่อให้อาจารย์จดจำเราได้และสนใจในตัวเรา
3.3 ลงมือก่อนคนอื่น
พอเรารู้ว่าอยากทำเรื่องอะไรและได้คอนเส็ปโครงเรื่องโดยรวมแล้ว ติดต่ออาจารย์ไปเลย ถือคติที่ว่า ลงมือก่อนได้เปรียบ เพราะอาจารย์จะได้มองเห็นว่าเราสนใจในหัวข้อและสาขาที่อาจารย์สอนอยู่จริงๆ
4.4 สุดท้ายแล้วคือตั้งใจทำงานวิจัยส่งให้อาจารย์ดูอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดช่วง อาจารย์จะได้ช่วยสงเคราะห์ให้เราได้จบๆไปอย่างรวดเร็ว

ซึ่งนอกจากวิธีข้างบนแล้ว ที่เหลือก็จะขึ้นอยู่กับความลึกตื้นหนาบางของหัวข้อที่เราต้องการ วิจารณญาณของอาจารย์แล้วก็ดวงของผู้ท้าชิงทุกท่านกันแล้วล่ะฮะ แล้วเดี๋ยวผมจะกลับมาต่อกันในครึ่งหลังว่า หลังจากที่เลือกอาจารย์และได้หัวข้อและทำวิทยานิพนธ์กันไปแล้ว ซึ่งผมจะขอข้ามขั้นตอนการทำไปเพราะว่าแต่ละมหาวิทยาลัยที่นี่มีขั้นตอนในการทำของทั้งรูปแบบการทำและสไตล์การทำของอาจารย์แต่ละท่านจะแตกต่างกันออกไปค่อนข้างชัดเจน  โดยเราจะมาดูกันว่าตอนเตรียมตัวสอบจบจะต้องทำยังไงกันต่อบ้างในตอนต่อไป อย่าพึ่งเบื่อกันครับ:)

Highlight Summary:
- การเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์สำคัญ เลือกผิดชีวิตเปลี่ยนถึงขั้นเรียนไม่จบได้
พยายามเลือกหัวข้อที่เราเชี่ยวชาญหรือจากความชอบส่วนตัวเป็นหลัก

- เลือกอาจารย์เหมือนเลือกโค้ช สไตล์แต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป 
อยากได้ตีสิสยังไง หรืออยากให้ทางเดินระหว่างทำตีสิสเป็นยังไง ต้องเลือกให้ดี ให้เหมาะกับตัวเอง
- คิดได้ก่อน ได้เริ่มทำก่อน ลุยก่อน จบก่อน ไม่ต้องไฟลนก้นเพราะอาจารย์บางคนดูแลเด็กดี บางคนถือว่าเด็กโตแล้วต้องรับผิดชอบตัวเอง


ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนและรูปประกอบจากGoogle

ติชมก่นด่าชอบแชร์ บอกได้คุยได้ครับบ :) 
ตามไปดูชีวิตไร้สาระประจำวันของคนเขียนได้ที่ Instragram: @puipuiiadventure