Saturday, October 3, 2015

ตอนที่10 :Life in Tainan 101 (เดินทางในไถหนาน)



Life in Tainan 101

เมืองที่มหาวิทยาลัยผมตั้งอยู่เป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศไต้หวันกว่า สองร้อยปี โดยมีการปกครองโดย ขุนพล เจิ้ง เฉิงกง แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งได้ขับไล่ชาวดัตช์ออกไปจากดินแดนไต้หวันที่มาตั้งอาณานิคมอยู่ ในปี 1683 ก่อนที่จะทำการย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองไทเปในปี 1887  ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างต่างๆที่ยังคงความคลาสสิคและดั้งเดิมไว้อยู่ค่อนข้างมาก รวมไปถึงคนในท้องถิ่นที่ใช้ภาษาพื้นเมือง(ไถหยู่)กันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การสื่อสารแม้ว่าจะเป็นใช้ภาษาจีนแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสื่อสารสำเร็จกับคนในเมืองนี้ 100% ซึ่งหลังจากผมได้ซื้อจักรยานคู่ใจคันแรกมาไว้ในครอบครองแล้ว ผมจึงได้ออกปั่นสำรวจเมืองด้วยจิตวิญญาณ นักผจญภัยทันที เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ สิ่งที่จะพลาดไม่ได้เลยในการเล่าเหตุการณ์ตามสูตรนักเดินทางต่างประเทศและในประเทศคือ ผมหลงทางครับ
หลงทางเป็นคำกริยาและเป็นกรรมด้วยในเวลาเดียวกัน นอกจากกรรมจะตกอยู่กับทางแล้ว ยังตกอยู่กับคนที่หลงอีกด้วย แต่ความหลงในที่นี้ก็ไม่ได้อารมณ์แบบหลงเข้าไปใน RCA หรือว่าบาร์อเมซิ่งไทยแลนด์แถวๆพัทยาที่เข้าแล้วออกมายาก (หรือใจมันไม่อยากออกก็ไม่แน่) ซึ่งการหลงทางกับการหลงระเริงและการหลงไหลได้ปลื้มจนลืมตัวนั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด หลงทางเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุหลายอย่างๆ ซึ่งเราต้องโทษสิ่งต่อไปนี้ครับ

1. โทษตัวเอง
                เมื่อหลงด้วยตัวเองนั้นสิ่งที่ต้องทำก่อนคือโทษตัวเองครับ เนื่องจากบางทีการดูแผนที่โดยการใช้หางตามอง แล้วจำสถานที่ใหญ่ๆคร่าวๆนั้น อาจจะใช้ไม่ได้กับเมืองที่มีการวางแผนเมืองแบบตามใจคนสร้างสมัยก่อนครับ หรือเพียงแค่คิดว่าจุดหมายอยู่ปลายทาง เพียงแค่ เลี้ยวซ้าย 3 ที เลี้ยวขวา 2 ที บน บน ล่าง ล่าง ซ้าย ขวา A B select start แล้วจะถึงที่หมายเลย บางทีเราอาจจะจับสลับกัน หรืออาจจะเลี้ยวผิดซอย ความซวยจะมาสะกิดหลังได้ทันทีครับ ทางที่ดีควรมีแผนที่เล็กๆ หรือวาดแผนที่คร่าวๆเก็บไว้ เผื่อไปด้วยกันหลงจะดีมากครับ

2. โทษคนวางผังเมืองและคนทำแผนที่
                บางทีการศึกษาและทำการบ้านมาดีไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีทางหลงทาง บางทีไอ่สิ่งที่มันเขียนอยู่บนแผนที่กับสิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าอาจจะไม่เหมือนกัน อีร้าน 7-11 ที่มันเคยเปิดมาสิบกว่าปี อาจจะชิงเจ๊งปิดตัวลงสองวันก่อนเราเดินทางมาถึง พอไปถึง ไม่มีเซเว่น อาจจะร้องกรี๊ดเป็นงิ้วอยู่ตรงนั้นก็เป็นได้ หรือถ้าแผนที่ขึ้นว่าถ้าผ่าน ปั๊มน้ำมัน 1 ปั๊มแล้วเลี้ยวขวาก็จะเจอเส้นทางไปต่อ แต่พอไปถึงจริง ดันทะลึ่งมีปั๊มเปิดเพิ่มอีกปั๊มกลายเป็นสองปั๊ม ก็อาจจะทำให้เราเดินเลยไปอีกก็เป็นได้(ปั๊มป๊ามมมม) และยิ่งถ้าเป็นเมืองเก่าที่มีอีตรอกซอกซอยเยอะ บางทีถ้าเราเลี้ยวผิดไปซอยเดียวก็จะทำให้เราหลงได้ หรือแม้กระทั่งอีชื่อถนนที่บางทีในแผนที่เขียนอย่าง กับป้ายตรงหัวถนนเขียนอย่าง อยากจะรู้ว่าตอนพี่ทำแผนที่เนี่ยะ พี่ไม่ได้คุยกับคนคิดชื่อถนนกันดีๆก่อนใช่ไหมพี่?!!?!?!?! นี่กูยังไม่รวมเวลากว่าที่กูจะรู้ตัวว่าเดินหลงแล้วต้องเดินย้อนกลับมาอีกนะเห๊ยยย
แผนที่สำหรับเขตตัวเมืองไถหนาน


3.โทษคนบอกทาง
                มุกคลาสสิคที่นักเดินทางหลายๆคนมักจะพบเจอมิตรภาพระหว่างทาง ก็เกิดจากจุดเริ่มต้นที่ว่า ถามคนท้องถิ่นเพราะว่าหลงทางเนี่ยะแหล่ะครับ แต่อย่าลืมไปว่าการเป็นเจ้าบ้านนั้น มันไม่ได้หมายความว่าเค้าจะมีโปรแกรมกูเกิ้ลติดตั้งอยู่ในสมอง และเค้าจะบอกเส้นทางเราได้ถูกต้อง
100% และไฮไลต์ที่เด็ดของประเทศนี้คือชื่อเรียกร้านค้าและสถานที่ของเค้าจะมีคำเรียกเฉพาะเป็นภาษาจีนเฉพาะครับ (เจ๋งป่ะล๊า) ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราถามเค้าว่า รู้ไหมว่า แมคโดนัลด์ที่ใกล้ที่สุดตรงนี้อยู่ที่ไหน ซึ่งปกตินั้นเราจะเรียกตามแบบภาษาอังกฤษว่า McDonald’s หรือว่าแมค แมคดี ฯลฯ แต่ถ้าไปที่นี่ถ้าไปถามคนท้องถิ่น ถามว่าแมคโดนัลด์ไปทางไหน อาจจะมีสิทธิ์อดกินกันได้ เพราะว่าที่นี้เค้าจะโชว์เหนือเรียกพี่แมคว่า Màidāngláo (ม่ายตังเหลา) 麥當 ซึ่งเป็นการแปลตรงตัวเพื่อเลียนเสียงภาษาอังกฤษ แต่ตัวอักษรแต่ละตัวนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพี่แมค พี่เบอร์เกอร์ หรือว่าพี่เฟรนช์ฟรายส์ หรือพี่โรนัลด์เลยก็ตามที!!!
พนักงานขายร้านม่ายตังเหลาที่ไต้หวัน ผมนี่เดินไปสั่งแมคฟิชเลยครัช

 
และยังมีอีกหลายๆร้านที่เค้าจะมีการใช้ภาษาจีนกันแทนที่จะใช้ภาษาอังกฤษทับศัพท์กัน เช่น คาร์ฟูร์ Carrefour เป็น Jiālèfú (เจียเล่อฝู) 家樂 หรือแม้แต่กระทั่งแบรดน์เจ้าบ้าน Asus ก็กลายเป็น Huáshuò (หวาชั่ว)    ก็โดนกันไปแล้ว (หมายเหตุ7-11,MRTยังใช้ทับศัพท์ได้ครับ) และยังไม่รวมที่ว่า มันจำสถานที่จำผิดจำถูกว่าต้องให้เราไปขึ้นสะพานไหน เลี้ยวไหน ลอดไหนอีกต่างหาก!!! แต่ด้วยสถานการณ์มันพาไป ณ ตอนนั้น แน่นอนครับเราก็ต้องเชื่อเจ้าถิ่น แต่เพื่อความชัวร์ หลังจากถามคนแรกไปแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 100 เมตร ควรจะหาเหยื่อรายที่สอง เพื่อให้แน่ใจว่าเราไปถูกทางครับ ส่วนตัวผมจะมีสเต็ปการเลือกคนที่จะเข้าไปทำการชาร์จตัวถามประมาณนี้ครับ
1.เลือกคนที่อายุช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคน เพราะว่าน่าจะเข้าใจภาษาอังกฤษได้ดีกว่าผู้สูงวัยในท้องถิ่น
2. เลือกพนักงานที่อยู่ประจำร้านต่างๆ เพราะจะได้มั่นใจได้ว่าเค้าไม่หลอกเราไปจี้ปล้นฆ่าหมกป่าแน่นอน
3.ท่าทางของคนที่ถูกถามว่าดูรีบเร่งหรือว่าดูสบายๆ ถ้าดูรีบเร่งก็อย่าไปกวนชีวิตเค้าเลยครับ
4. หน้าตาดี (ในที่นี้หมายถึงสาวที่ถูกถาม ไม่ใช่หน้าตาคนถามนะครัช กริ๊ววว)
ร้านคาร์ฟูร์บ้านเรา หรือที่รู้จักกันในนาม เจียเล่อฝูที่ไต้หวัน

                อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นแล้วว่าเมืองนี้ส่วนใหญ่ใช้ภาษาจีนและภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาหลัก ดังนั้นพอผมถามด้วยภาษาอังกฤษไป จึงต้องจบด้วยการเป็นใบ้ และถามด้วยภาษามือแทน ซึ่งการศึกษาลักษณะท่าทางของภาษามือ และ การจำชื่อและออกเสียงถนนนั้นถือเป็นสเตปเบสิคสิ่งที่ต้องจำให้ได้ในการถามทาง เพราะว่าแม้ว่าชื่อถนนจะมีการเขียนภาษาอังกฤษกำกับไว้ แต่การออกเสียงนั้นถือว่า ยอดเยี่ยมไม่แพ้ภาษาไทยเลย ยกตัวอย่างเช่น Daxue Road. ซึ่งเป็นถนนที่มหาวิทยาลัยของผมตั้งอยู่ โดยถ้าอ่านเป็นแบบภาษาจีนจะออกเสียงประมาณว่า Dàxué ต้าเฉว”(ขออภัยถ้าการเขียนหรือการแจ้งวิธีการออกเสียงไม่ถูกตามหลักภาษามา ณ ที่นี้) แต่ในขณะเดียวกัน ในการเขียนที่อยู่แบบภาษาอังกฤษตามที่ทางมหาวิทยาลัยระบุไว้ในการจัดส่งเอกสารนั้นกลับใช้คำว่า University Road ซะงั้น ( หมายเหตุ Daxue= มหาวิทยาลัย) จึงทำให้กว่าที่ผมจะได้กลับไปยังหอพักนั้น ได้ทำการเรียนรู้ภาษามือและภาษาจีนไปหลายคำศัพท์เลยครับ คือ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา และตรงไป 
University Road ในตำนาน

                สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไถหนานนั้น จากที่ได้เกริ่นไปในเบื้องต้นแล้วว่าเป็นเมืองหลวงเก่าของเมืองไถหนาน ดังนั้นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังประจำเมืองส่วนใหญ่จะเน้นไปทางสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในยุคสมัยที่ไถหนานยังเป็นเมืองหลวงเก่า ซึ่งผมจะมาต่อกันในวันหลังครับ :)

Highlight Summary:
- แผนที่กับสถานที่จริง ไม่ว่าไปที่ไหนๆมันก็มีโอกาสที่จะแตกต่างกันไปเสมอ บางทีหลงทางไม่ใช่เรื่องน่าหงุดหงิด
แต่อาจจะทำให้เราเห็นสิ่งที่แผนที่ไม่ได้บอกไว้ก็ได้
- ไถหนานเป็นจังหวัดที่สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เยอะ เดินทางลำบาก รสบัส 1ชม.มาคัน แนะนำให้เช่ารถยนต์/มอเตอร์ไซค์หรือจักรยานเที่ยว
- เวลาถามทางอาจจะต้องสังเกตนิดนึงว่าดูน่าเชื่อถือได้ไหม หรือว่าดูเหมือนพอจะบอกทางรู้เรื่องหรือเปล่า