Tuesday, September 6, 2016

ตอนที่13 : Back to School (คอร์สเรียน บัตร ARC และ บัตรทองเวอร์ชั่นไต้หวัน)

กริ๊งงงงงงงงงงงง


แปดโมงเช้า จันทร์ที่ xxx กันยายน 2012

เป็นวันแรกที่ต้องกลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายจากชีวิตนักศึกษาไปพักใหญ่ๆ

ใช่แล้วครับ วันนี้เป็นวันแรกที่จะต้องไปเข้าพิธี (จะเรียกว่าพิธีก็ไม่ถูก เหมือนเป็นแนะแนวการเข้าเรียนมากกว่า) ซึ่งปกติแล้วจะเป็นวันทีทางคณะจะเรียกนักศึกษาหน้าใหม่มาทำความรู้จักกับตัวคณะ และสิ่งต่างๆที่จะต้องเตรียมและดำเนินการเพื่อเข้าเป็นนักศึกษาของคณะอย่างเต็มตัว โดยเมื่อไปถึงส่วนใหญ่จะแบ่งช่วงประมาณนี้

1. แนะนำคณะ คณาจารย์และบุคลากรของคณะ
 ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เราจะต้องเริ่มทำตัวเป็นโคนัน และสังเกตว่าอาจารย์คนไหนสอนเกี่ยวกับด้านอะไร
เพราะว่าเราจะได้เลือกลงวิชากับอาจารย์คนนั้นๆได้ถูกและขอเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเวลาทำวิทยานิพนธ์ได้
(ถ้าอยากได้อาจารย์คนไหนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาผมแนะนำให้ไปลงตัวของเค้าเยอะๆจะได้สนิทกันมากขึ้น) 

2. คอร์สการเรียน ตัวจำเป็นที่จะต้องลงและขั้นตอนในการเรียนและสอบจบ
*แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีขั้นตอนบางขั้นที่ต่างกันออกไปครับ*
- ช่วงจากประสบการณ์ตรง
2.1ทางคณะจะมีเปิดวิชาให้เรียนแบ่งเป็น Core course และ Elective cours
ซึ่งเราจะต้องลง Core Course ให้ครบตามจำนวนที่ทางคณะกำหนดไม่งั้นจะไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์ได้ 
2.2 แนะนำให้อัดตัวเรียนให้หมดภายในเทอมแรกๆเพราะถ้าดวงดีเทอมสุดท้ายอาจจะไม่ต้องมีเรียนเลย
ทำให้มีเวลาเที่ย ทำวิทยานิพนธ์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งบางคณะเค้าจะต้องมีการพิจารณาเกรดจากเทอมแรกเพื่อที่จะอนุมัติให้ลง
ได้เกินกำหนดปกติได้ในเทอมสอง เพราะฉะนั้นอาจจะต้องตั้งใจเรียนกันหน่อย    
3. แนะนำตัว น.. แต่ละคนแบบสั้นๆ 
หากใครมีชื่อภาษาไทยที่อ่านยากหรือว่าดูแล้วไม่คิดว่าชื่อตัวเองเป็นมงคลแต่ไม่อยากเปลี่ยนชื่อ ขอแนะนำให้ทำการเบิ้ลชื่อครับ มันจะกลายเป็นชื่อขึ้นมาได้โดยทันทีอย่างผมชื่อเล่นชื่อปุ้ย แล้วด้วยความจนปัญญาไม่รู้จะเอาชื่ออะไรดีเลยเบิ้ลเป็น Puipuii ไปเลย
เพราะว่าบางทีชื่อคนไทยที่มีคำเดียวเพื่อนาวต่างชาติอาจจะงงว่ามันเปนชื่อเล่นยังไงครับ หรือว่าจะเปลี่ยนเป็นชื่ออังกฤษไปเลยก็ได้เพื่อความเข้าใจตรงกัน

4.  แนะนำสวัสดิการและการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง (ห้องสมุด, ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์, ฯลฯ) 
หลักๆจะเป็นช่วงแนะนำว่าเราสามารถใช้อะไรของมหาวิทยาลัยได้บ้าง และเวลามีปัญหาในด้านการใช้ชีวิตหรือด้านไหนจะต้องติดต่อใครก่อน ปกติแล้วส่วนตัวถ้ามีปัญหาที่เกี่ยวกับการเรียนจะไปที่ฝ่ายดูแลนักศึกษาในคณะ แต่ถ้าเป็นด้านสวัสดิการหรือเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนผมจะไปที่ OIA เพราะว่าทางนั้นจะมีบุคลากรที่ช่วยสื่อสารแทนเราได้ครับ

5. การทำเอกสารต่างๆ (ขึ้นทะเบียน นักศึกษา ทำบัตร ARC ทำบัตรประกันสุขภาพ)
โดยในคราวนี้ผมจะขออธิบายถึงในส่วนของการทำเอกสารต่างๆแทน
อย่างแรกเลย สิ่งที่นักศึกษาใหม่จะต้องมีติดตัวอยู่ตลอดเวลาในช่วงแรกที่มาเรียน ชนิดที่ว่าห้ามหายคือ

1. หนังสือเดินทาง
เพราะว่าเรายังไม่มีบัตร Alien Residence Visa Card (ARC) (เดี๋ยวจะอธิบายต่อด้านล่างนะครัช) ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องมีหนังสือเดินทางติดตัวทุกครั้งเวลาที่จะต้องมีการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐหรือมหาวิทยาลัย แนะนำให้ทำสำเนาเก็บไว้จำนวนหนึ่ง เผื่อกรณีที่สูญหาย

2. เอกสารยืนยันการเข้าเรียน
จะเป็นกระดาษขนาด A4 ที่ระบุรายละเอียดการตอบรับการเข้าเรียนของเรา ซึ่งจะมีตรามหาวิทยาลัยตัวโตๆ (เหมือนลายน้ำ)แปะอยู่ เป็นหนังสือที่จะยืนยันว่าเราเป็นนักศึกษาของมหาลัยก่อนที่เราจะได้รับบัตรประจำตัวนักศึกษา ซึ่งในบางกรณี เอกสารตัวนี้อาจจะต้องถูกถามถึงบ้างเป็นบางครั้ง
โดยเอกสารทั้งสองตัวนี้ ขอย้ำเลยว่าจะต้องกำไว้ให้แน่นตลอดช่วงแรกที่เริ่มใช้ชีวิตในไต้หวัน จนกว่าที่เราจะได้ทั้งบัตร ARC และบัตรประกันสุขภาพ National Health Insurance (NHI)
หลายคนอาจจะเคยได้ยินจากรุ่นพี่ ศิษย์เก่า หรือคนที่เคยไปอยู่ที่ไต้หวันกันมาบ้างสำหรับเจ้าบัตรทั้งสองประเภทนี้ เราจะมาทำความรู้จักกันว่า เจ้าบัตรสองประเภทนี้คืออะไรแล้วมันมีความสำคัญกับชีวิตของเราในไต้หวันกันยังไงบ้าง

บัตร Alien Residence Visa Card (ARC)
เจ้าบัตรนี้เปรียบเสมือนกับบัตรประจำตัวประชาชนของเราตลอดระยะเวลาที่เราพำนักอยู่ในไต้หวัน โดยในบัตรจะมีรายละเอียดข้อมูลของเราทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน (ชื่อ ที่อยู่ ประเทศ และหมายเลขบัตรประจำตัวคนต่างชาติในไต้หวัน) โดยเราจะต้องแสดงบัตรนี้ ทุกครั้งพร้อมหนังสือเดินทางเวลาเดินทางออกนอกประเทศ หรือเดินทางกลับไต้หวันให้แก่เจ้าหน้าที่เช็คอิน
หรือแม้กระทั่งไปเที่ยวสถานเริงรมย์ยามราตรี(ผับ บาร์) เราจะต้องเอาบัตรนี้โชว์ให้การ์ดทุกครั้ง ว่าเราสามารถเข้าได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นบัตรที่ ห้ามหาย เป็นอันขาด

หน้าตาของบัตร ARC (ของปลอมนะจ๊ะ เพนกวินทำไม่ได้ฮะ)

แล้วเจ้าบัตรนี้ทำยังไง
สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติเป็นจำนวนมาก จะมีวันนึงที่เค้าจะนัดหมายเจ้าหน้าที่จาก immigration office มาช่วยทำบัตรให้แก่นักศึกษา โดยเราจะต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้ไปด้วย
1. หนังสือเดินทางตัวจริงพร้อมวีซ่าเดินทางเข้าไต้หวันครั้งแรก + สำเนา
2. รูปถ่ายหัวโต ขนาดประมาณวีซ่า สามารถสอบถามได้จากร้านถ่ายรูปบริเวณมหาลัยเพื่อให้เค้าถ่ายให้เราได้ก่อน
ไปที่ร้านบอกเค้าว่าอยากได้แบบหัวโต
(大頭-ต้าโถว) บอกเค้าไปเลยว่าเอามา 6 รูป พอถ่ายเสร็จเค้าจะนัดเรามาเอาอีกที
บางร้านตอนไปรับเค้าจะแถมซีดีให้ด้วยเผื่อให้เราเอาไปอัดที่อื่น (ผมใช้ซีดีแผ่นนั้นจนถึงทุกวันนี้)
3. หนังสือรับรองการเข้าเป็นนักศึกษามหาลัยจากทางมหาวิทยาลัย (บอกแล้วอันนี้ห้ามหาย อย่างน้อยๆต้องมีตัวสำเนาเก็บไว้ด้วย)
4. หนังสือรับรองการตรวจสุขภาพ(ใบรับรองสุขภาพ) 

*สำคัญ*
หมายเหตุไว้ตัวโตๆเลย ตัวนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ยุ่งยากที่สุดและเสียเวลามากที่สุดในขั้นตอนทั้งมวล คือไอ้เจ้าใบนี้จะเป็นตัวยืนยันสุขภาพของเราตามระเบียบการของรัฐบาลไต้หวัน โดยที่เราจะต้องทำการตรวจโรคตามระเบียบการที่เค้าต้องการ –ทั้งหมด-
และจะสามารถตรวจได้ตามโรงพยาบาลต่อไปนี้เท่านั้น และที่สำคัญคือใบนี้จะต้องมีอายุไม่เกิน 3 เดือน

1. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
2. โรงพยาบาลศิริราช
3. โรงพยาบาลราชวิถี
4. โรงพยาบาลรามาธิบดี
5. โรงพยาบาลมหาราช
6. โรงพยาบาลลำปาง

ถ้าจำไม่ผิดจะเรียกว่าการตรวจสุขภาพแผน B ซึ่งเราจะต้องทำการตรวจแบบละเอียดรวมถึงได้ฟิล์มกับสมุดเล่มเล็กๆสีเหลืองมาด้วย ขอให้เอาเอกสารพวกนั้นมาด้วยฮะ
(ส่วนตัวผมไปทำที่โรงพยาบาลลำปางมาครับ)

****ซึ่งบัตรนี้จำเป็นต่อการเปิดบัญชีธนาคารหลังจากที่ได้บัตรมาแล้ว****

หลังจากที่ดำเนินการกับบัตร ARC ยังมีอีกบัตรหนึ่งที่เราต้องมีติดตัวไว้ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในไต้หวันนั่นก็คือ

บัตร National Health Insurance (NHI)
ซึ่งเจ้าบัตรตัวนี้เหมือนเป็นบัตรทองของเราในทุกกรณีที่เราต้องไปข้องเกี่ยวกับ หมอๆพยาบาลๆและหยูกยาทั้งหลายครับ
บัตร NHI จะเป็นบัตรที่เก็บข้อมูลทุกอย่างด้านสุขภาพของเราไว้และรวมไปถึงการรับสวัสดิการจากทางภาครัฐทั้งหมดด้วย
เราจะต้องมีติดตัวทุกครั้งเวลาที่ไปหาหมอ รับการตรวจ หรือขั้นตอนการจ่ายยา ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาไปรักษาโรคไข้หวัดที่นี่ ถ้าหากไม่มีบัตร NHI ไปด้วยอาจจะต้องเสียค่าหมอรวมถึงยาสูงกว่าการใช้บัตร  โดยระบบการรักษาของที่นี่จะเป็น one stop service คลินิก คือ รับบัตรคิวและลงทะเบียน ตรวจ แล้วจ่ายยาเลยฮะ แต่ถ้าเรามีบัตรนี้ รวมค่าตรวจและค่ายาแล้วอาจจะไม่ถึง 300ntd ก็เป็นได้

หน้าตาของบัตร National Health Insurance หรือรู้จักกันดีในชื่อ NHI

สำหรับวิธีการทำบัตร NHI นั้นทางมหาวิทยาลัย (หน่วยนิเทศ Office of International Affair OIA) จะมีการนัดนักศึกษาต่างชาติพร้อมกันและให้บุคลากรจากโรงพยาบาลมาให้บริการตรวจเช็คและทำบัตรให้ (สำหรับมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ) ซึ่งเราต้องเตรียมเอกสารไปตามที่ทางนั้นแจ้งมา ซึ่งโดยหลักๆแล้ว อย่าลืมนำใบตรวจสุขภาพที่เคยตรวจตอนอยู่ไทยไปด้วยก็ถือว่าใช้ได้แล้วครับ

รายละเอียดในส่วนของบัตรประจำตัวที่นักศึกษาจะต้องมีและเตรียมตัวก็จะประมาณนี้ ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปตามแต่ละมหาวิทยาลัยอีกทีครับผม


Highlight Summary:
- วันเข้าเรียนวันแรกและ Orientation ไม่ควรพลาดที่จะเข้าเพราะว่าอาจจะพลาดข้อมูลสำคัญๆหลายอย่าง
- พยายามจำอาจารย์และโครงสร้างหลักสูตร การลงตัวเรียนให้ได้ เพราะว่าเลือกอาจารย์ได้ก่อนมีชัยไปกว่าครึ่ง
- เอกสารทุกอย่างที่เค้าให้มาจากเมืองไทย ห้ามหาย และเตรียมเอกสารจำเป็นที่เคยรับรองเอาตัวจริงมาด้วย
- บัตร ARC เป็นบัตรประชาชนของเราที่นี่ ห้ามหาย ห้ามปล่อยให้หมดอายุ ส่วนบัตร NHI มีค่าดั่งทองเพราะ
จะช่วยลดค่าใช้จ่ายเวลาเราไม่สบาย หรือขูดหินปูนได้แบบแทบจะทำฟรี 



ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนและรูปประกอบจากGoogle
ตามไปดูชีวิตไร้สาระประจำวันของคนเขียนได้ที่ Instragram: @puipuiiadventure
ปล. ตอนนี้หลายๆคนรุ่นปัจจุบันอาจจะมาถึงแล้ว หากมีข้อสงสัยอะไรสามารถแปะไว้ที่คอมเมนท์ได้ฮะ จะพยายามช่วยหาคำตอบให้นะครับผม :)






Friday, July 1, 2016

ตอนที่12 :Welcome to Reality (การเข้าชมรม)



หลังจากที่ห่างหายไปเกือบครึ่งปี กลับมาแล้วฮะ ยังไม่หายไปไหน บทนี้จะเป็นบทส่งท้ายในส่วนของการเดินทางและการปรับตัวเข้ากับไต้หวันในแบบฉบับนักศึกษาหลังจากนี้แล้วจะเป็นส่วนของการเข้าห้องเรียนแล้วก็เที่ยว เที่ยว และเที่ยวละครับผม



หลังจากที่เดินทางถึงหอครบ 32 และได้ความช่วยเหลือจากรุ่นน้องคนไทยที่มาถึงก่อนในเรืองของการเปิดห้องในหอพักและลงทะเบียนซึ่งผมโดนบัดดี้ชิ่งตั้งแต่วันที่สองของการที่มาอยู่ไต้หวัน (ขอบคุณน้องเซ็งมา ณ ที่นี้นะครัช) น้องก็พาไปซื้อเครื่องนอน หมอนผ้าห่มฟูกและสิ่งจำเป็นอื่นๆอีกมากมาย (ซึ่งหอไม่มีมาให้ มีแต่เตียงไม้กระดาน แน่นอน มีแค่หอในมหาลัยโอนลี่เท่านั้นครับ)

ก็ถึงเวลาสำคัญในการสำรวจเมือง(มหาลัย)ว่าไหนๆก็จะอยู่ถึง 2ปี มีกิจกรรมหรือสิ่งยวนใจอะไรที่น่าจะเข้าร่วม และทำตัวย้อนวัยเด็กมหาลัย 18 อีกครั้งมีอะไรกันบ้าง 555555 +
หลักๆเลยผมมั่นใจว่าทุกมหาลัยจะมีสถานที่ๆเด็กกิจกรรมจะรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรม สร้างสัมพันธไมตรี ฝึกฝนฝีมือ และหาคู่รักนักกิจกรรมกันนั่นก็คือ ชมรม หรือที่หลายๆคนอาจจะรู้จักกันในนามชุมนุม ซึ่งปกติแล้ว ชมรมทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็น ชมรมวัฒนธรรม ชมรมกีฬา ชมรมดนตรี ชมรมนักสำรวจ ชมรมคนนู่นนี่นั่น ก็เหมือนเป็นจุดศูนย์กลางของนักศึกษา ที่มีอุดมการณ์ ความชอบและสิ่งที่สนใจเหมือนๆกัน มารู้จักและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วยกัน
ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีกฎในการตั้งชมรม หรือการจัดกิจกรรมของชมรมไม่เหมือนกัน ยิ่งมหาวิทยาลัยใหญ่เท่าไหร่ จำนวนชมรมก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อนไต้หวันเคยเล่าให้ฟังว่าบางทีถึงขั้นต้องชิงสิทธิ์การเป็นชมรมเป็นทางการกันเลยในแต่ละปี หากชมรมไหนไม่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นได้ จำนวนคนไม่เพียงพอ หรือดูแล้วไม่สร้างประโยชน์ในภาพรวม ก็จะถูกริบสิทธิ์นั้นและมอบให้แก่ชมรมอื่นต่อไป (ริบสิทธิ์ในที่นี้คือการยึดห้องชมรมที่เคยมีอยู่ในอาคารกิจกรรมนักศึกษาออกซะส่วนใหญ่ เพราะว่าจำนวนห้องชมรมมีจำกัด บางมหาลัยอาจใช้สิทธิ์ลงทะเบียนก่อนได้ห้องก่อนก็มี)
**หมายเหตุ**
พวกชมรมที่บ้านเราไม่ค่อยมีอย่างชมรม หมวดผู้คลั่งไคล้ (โอตาคุ) รถถัง/ปืน/การ์ด/การ์ตูน/นู่นนี่นั่น ที่นี่มีจริงๆนะเออ ทำเป็นเล่นไป!
โดยสโมสรนักศึกษากลางจะเป็นผู้ดูผลการทำงานของแต่ละชมรมในแต่ละภาคการศึกษาว่าได้รับความสนใจจากนักศึกษามากเท่าไหร่ และทางชมรมเองก็ต้องมีการทำรายงาน รายงานผลของชมรมในทุกๆเทอม นำส่งให้ฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาด้วย (เหย็ดดดดดดดด ดูเป็นเรื่องเป็นราวไหมล่ะ!)

               ซึ่งสำหรับมหาวิทยาลัยเฉิงกงจะมีวันนึงในช่วงเดือนแรกของการเปิดเรียนจะเป็นวันที่อนุญาตให้ชมรมต่างๆมาทำการรับสมัครนักศึกษาที่เข้าเรียนใหม่เข้าขมรมของตัวเองซึ่งเรียกว่า Club day /Club open house day/ Club Expo day  
(招募社員活) หรือที่เราจะเคยเห็นกันแบบในหนังญี่ปุ่น เอ๊ย!!การ์ตูนญี่ปุ่นนั่นแหล่ะ งานจะจัดขึ้นตอนเย็นเป็นเวลา 2วัน แต่ละชมรมจะมีบูทเป็นของตัวเอง และสามารถโชว์หรือแสดงอะไรก็ได้ เพื่อเป็นการดึงดูดเด็กใหม่ไฟแรงอย่างเราๆไปเข้าชมรมกะเค้า

คนเยอะแบบนี้เลย!

โดยไอ้งานนี้ส่วนใหญ่เค้าจะจัดกันเวลาตอนเย็น เนื่องจากจะได้ไม่รบกวนเวลาเรียนของนักเรียนส่วนใหญ่ แต่ละชมรมสามารถป่าวประกาศเรียกแขก เอ๊ยยย สมาชิกกันได้อย่างถึงพริกถึงขิง โดยแต่ละที่จะมีการจัดวางบูธไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งตามหมวด เช่นหมวดชมรมกีฬา หมวดชมรมกิจกรรมในร่ม หมวดวัฒนธรรมเป็นต้น ตามแผนผังด้านล่างนี้


แผนผังวันเปิดชมรม (ภาคการศึกษา Spring จะน้อยกว่าภาค Fall)

ตารางรายชื่อชมรมทั้งหมดที่ลงทะเบียนจากสภานักเรียน NCKU (2015)


Chapter of Motor vehicle Study Association
NCKU Puppet Club
 Harmonica Club
Club of Astronomy
Oriental Fencing Club
Cheer Leaders
The Cinemax Club
Animad Club
NCKU Fencing Club
Chung-De Youth Club
Photography Club
Comic Club
Baji Club
Bliss and Wisdom Youth Club
Psychology Research Association
Campus Computer & Network Society
Chinese Kung-fu Association
Tzu Chi Colleage Association
NCKU Students Service Club
Fantasy Club
Tae-Kwan-Do Club
Philanthropy Club
Dancing Study Association
Rail-club
Jeet kune Do club
TEDX
International Etiquette Association
Wild-Bird Association
Judo Club
Social Service Team
Magic club
Mountaineering Association of NCKU
Wing chun Club
Rotaract Club of National Cheng Kung University
Securities Investment Association
Travel Club
Martial Arts Club
NCKU Youth Magazine Association
Venture-Club
National Cheng Kung University Bicycle Club
Aikido Club
Action Art of N.C.K.U for Volunteer Effort
Youth Leader Education Association
Roller Association
Taicychuan Club
Recreation Leader training Association
TO LESBIANS AND QUEERS
NCKU Tennis Club
Karate Club
Cchess
Light-Salt Hymns Singing Club
Tennis Association
Folk Dance Club
Bridge Club
Taiwan Japan Student conference
Badminton Club
Care of stray dogs Club
Beverage-Art Research Club
International Association of Students in Economics and Manag
Aquatic Sports Club
Medical Service Association
C-Hand Conselling Club
International Exchange Association for Students
Ping-Pong Club
First-Aid Club
Chinese Classical Music Study Association
Cheng Kung Toastmasters Club
Billiards Club
Traditional Chinese Medicine Club
Chinese Opera Study Association
Sign Language Club
Debate Club
Zen Club
Chinese Knot
Chorus
Student Autonomous Organization
Falungong club
Pottery Creating Association
Horticulture Association
NCKU Students Chapter, Chinese Youth Riding and Archery Association
Buddhism Association
Guitar Club
Chung_Party
Military research Club
Religions Philosophy Research Association
NCKU Scouts Club
Street-Poet Rapper
Hot music
Bright Life Club
Piano club
Reception
Popular Dance Association
National Cheng Kung University Model United Nations Club
Art Club
The Association of National Cheng Kung University Students Clubs

 

หลังจากที่เราเดินเข้าไปที่บูธ (หรือว่าโดนลากก็ตาม) รุ่นพี่ รุ่นเพื่อน น.ศ.ก็จะสอบถามว่ามีความสนใจมากน้อยแค่ไหน ทำอะไรได้บ้าง อธิบายรายละเอียดกิจกรรมให้เราฟัง (ใช่แล้วครับเป็นภาษาจีนล้วน) เลยเป็นสูตรที่ว่าเวลาที่ผมเดินไปดูบูธไหน ก็ต้องระบุตัวตนให้เค้ารู้ก่อนเลยนะว่า เฮาไม่ใช่คนท้องถิ่นเลยอาจจะลำบากนิดหน่อยในการเข้าร่วมกิจกรรมกับ น.ศ.ไต้หวันนิดหน่อย ถ้าชมรมเค้าใจดีหรือว่ามีคนพูดภาษาอังกฤษได้ เค้าก็จะพยายามช่วยเหลือเราและคุยกับเราต่อครับ โดยหลังจากที่เข้าไปที่บูธแล้ว เค้าจะขอให้เราลงชื่อสมัครเข้าชมรม และจะนัดหมายวันรวมตัวเด็กใหม่กันอีกที (ส่วนใหญ่จะมีระบุไว้ในใบปลิวของแต่ละชมรมเสร็จสรรพ)

NCKU Jazz club วันเปิดชมรม


หลังจากเราโดดข้ามไทม์ไลน์หลังจากวันที่สมัครไปจนถึงวันที่ นัดพบเด็กใหม่แล้ว ซึ่งสถานที่นัดหมายอาจจะเป็นภายในมหาวิทยาลัยหรือนอกมหาวิทยาลัยก็ได้ (ไม่ต้องตกใจไป บางชมรมไม่มีห้องกิจกรรมในมหาลัย) หลักๆจะเป็นกิจกรรมประมาณนี้

1. แนะนำตัวเอง จบที่ไหนมา เล่นอะไร/ทำอะไรได้บ้าง (สำหรับชมรมสายดนตรี/กีฬา)
2.แจ้งตารางกิจกรรมคร่าวๆประจำเทอมของชมรม (หรืออาจจะมีการจัดออดิชั่นเพื่อคัดคน)
3. จ่ายเงินค่าบำรุงชมรม (เงินส่วนนี้จะเป็นเงินในการจัดกิจกรรมทั่วไป/ค่าอุปกรณ์ เช่นโน้ต/ชีท/สื่อหรือการเช่าห้องต่างๆ)
4. แบ่งกลุ่มนัดวันเรียน จัดตารางเรียน (สำหรับเด็กที่พึ่งเข้าชมรมและไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน)
ชมรม NCKU Jazz Club วันที่มีวิทยากรรับเชิญจากด้านนอกมาให้ความรู้



*****หมายเหตุตัวโตๆ***** 
สำหรับคนที่อยากเข้าชมรมแต่ไม่มีเพื่อนที่พูดภาษาจีนไปได้ แนะนำให้ขอเบอร์ติดต่อ/ไลน์ของคนที่ช่วยเราประสานงานตอนที่ลงชื่อเข้าชมรมไว้ อย่างน้อยๆเราจะได้อุ่นใจหากมีคนที่พอจะช่วยเหลือเราได้บ้าง ที่สำคัญคืออย่ากลัวที่จะได้ลองสิ่งใหม่ๆครับ
ตอนแรกที่ผมเดินดุ่มๆเข้าไปเลือกชมรม บอกตามตรงว่าปอดแหกเหมือนกัน เพราะว่าพูดไม่ได้เลย พูดภาษาอังกฤษไปก็มีความจึ๋งกันทั้งสองฝ่าย แต่หลังๆพอเริ่มรู้ภาษาได้บ้างหรือพยายามเรียนรู้ได้บ้าง ทางน.ศ.ไต้หวันเองเค้าก็พร้อมที่จะช่วยเหลือและเป็นเพื่อนกับเราครับผม

ขอให้ทุกคนสนุกกับการเรียนรู้วิถีชีวิตและความเรียลของการเป็นนักศึกษาไต้หวันกันทุกคนนะครับ ส่วนตัวผมเชื่อว่าการเข้าชมรมเป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราได้เห็นถึงความเป็นต้นตำรับตัวจริงของจริงประเทศนั้นๆ เราจะได้เรียนรู้วิธีการทำงานและไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นไต้หวันแบบถึงพริกถึงขิง ได้ไม่แพ้กับการไปอยู่กับโฮสแน่นอน และที่สำคัญภาษาจีนจะเก่งเร็วขึ้นอย่างแน่นอนครับ(แบบที่ไม่ค่อยมีประโยชน์นะ 5555555)

Highlight Summary:
- ตรวจเช็คเวลาเข้าหอวันแรกให้ดีๆ หากใครมีคนรู้จักอยู่ที่ไต้หวันก่อนแล้วถือเป็นแต้มต่อพระคุ้มที่ดีมาก
บางหอไม่มีของใช้ในห้องมา ถ้ามาดึกเกินไปอาจจะต้องทนนอนไม้กระดานไปก่อน 
- ถ้ามีโอกาสเลือกรูมเมท ที่ไหนบนแล้วขึ้นไปบนเลยครับ มีรูมเมทไม่ดีชีวิตเปลี่ยนได้ 
- เข้าชมรมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเป็นตัวเลือกที่ดีอันดับต้นๆของการที่อยากฝึกภาษาแต่มีงบประมาณน้อย 
มีความยากกว่าการเข้าเรียนสูง แต่จะได้ทั้งภาษาได้ทั้งเพื่อน และประสบการณ์
- ชมรมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยของไต้หวันมีค่อนข้างหลากหลาย แปลกๆก็เยอะ พยายามเลือกชมรมที่เราไม่มีโอกาสได้เข้า
หรือเข้าชมรมที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เพราะยังไงก็จะได้ฝึกภาษาอย่างเต็มที่แน่นอน



ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนและรูปประกอบจากGoogle
ตามไปดูชีวิตไร้สาระประจำวันของคนเขียนได้ที่ Instragram: @puipuiiadventure
ปล. หลังจากนี้จะไม่หายแล้วครับ หากมีข้อติดชม หรือว่าเสนอแนะเกี่ยวกับการเขียน หรือสิ่งต่างๆเกี่ยวกับไต้หวัน สามารถแนะนำได้เต็มที่เลยครับ :)