Wednesday, January 14, 2015

ตอนที่6 :ไปวิ่งกันเถอะ ไปวิ่งกันเถอะ (ตะลุยสถานฑูตไต้หวัน)



สวัสดีครัชพ่อแม่พี่น้องญาติสนิทมิตรสหายและผู้อ่านทุกๆท่านนน (+_+)/


วันนี้จะมาต่อในเรื่องของการยื่นเอกสารและการดำเนินการต่างๆที่ต้องมีการติดต่อกับสถานฑูตนะครับบบ อ้างอิงจากตอนที่แล้ว (ตอนที่ 4.1 ใครที่ยังไม่เคยอ่าน ลองกลับไปอ่านดู อ่านตั้งแต่ตอนที่1 เลยก็ดีนะก๊าบ) หลังจากที่เราเตรียมเอกสารทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว เราต้องทำการยื่นขอรับรองเอกสารจาก สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป(จะขอเรียกว่าสถานฑูตนะครับ) เพื่อให้ทางหน่วยงานราชการจากประเทศไต้หวันรับรองว่าเอกสารเหล่านี้เป็นของจริงและสามารถใช้อ้างอิงได้ในการทำธุรกรรมในประเทศไต้หวันครับ ซึ่งสามารถเข้าไปหารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานฑูตได้จากลิ๊งค์ข้างล่างนี้เลยครับ







สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารที่จะต้องใช้ประกอบ สามารถอัพเดทการเปลี่ยนแปลงได้จากลิ๊งนี้ครับผม

http://www.boca.gov.tw/np.asp?ctNode=776&mp=2

สำหรับเอกสารที่จำเป็นต้องเตรียมนอกเหนือจากเอกสารที่เราต้องการขอรับรองแล้วมีดังนี้ครับ
1. สำเนาหนังสือเดินทาง ( passport copy)  1ชุด
= สำหรับผม ผมเตรียมตัวจริงไปด้วย เผื่อเค้าถามครับผม


2. กรณีศึกษาต่อแนบเอกสารเกี่ยวข้องกับสถาบันหรือมหาลัยที่จะไปเรียน เช่นใบตอบรับจากทางมหาลัยหรือใบสมัครเรียน
กรณีไปทำงานแนบเอกสารเกี่ยวข้องจากทางบริษัท เช่นใบจ้างงาน ใบตอบรับการทำงาน ใบรับรองการว่าจ้าง
= แนบใบสมัครที่เรากรอกจากทางมหาวิทยาลัยพร้อมลงชื่อแล้ว ปริ้นท์ออกมาแล้วแนบมาด้วยครับ สำหรับมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้เราส่งเอกสารที่ผ่านการรับรองแล้ว(ผ่านการอัพโหลดทางอินเทอร์เน็ต) ผมแนะนำให้ลองส่งอีเมล์ไปถามทาง OIA ของคณะนั้นๆว่าเราต้องใช้ใบสมัครที่กรอกครบแล้วยื่นไปก่อน แล้วเราจะแสกนส่งเค้าทีหลังก็ได้ครับ

3. เอกสารที่จะรับรอง ที่ออกจากหน่วยงานไทย ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ ผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศไทย
(โทร
02 5751056-59 ) ต้นฉบับพร้อมสำเนา 1 ชุด
= ซึ่งถ้าออกจากมหาวิทยาลัยโดยตรง หรือว่าธนาคารของรัฐสำหรับใบStatement ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแต่ถ้าเป็นเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานเอกชนควรจะมีไปด้วย ซึ่งเอกสารตัวนี้ผมไม่ได้ใช้ครับ

4. กรณีที่ไม่สามารถมายื่นเรื่องเอง จะต้องมี หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรของผู้รับมอบที่ทางราชการออกให้ (หนังสือมอบอำนาจ มีอายุหกเดือน นับจากวันที่ออก)
* กรณีที่อยู่ในประเทศไทย สามารถมอบอำนาจได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้
1 หนังสือมอบอำนาจที่ผ่านกระทรวงการต่างประเทศรับรอง
2 หนังสือมอบอำนาจที่ผ่านการรับรองจาก สำนักงานเขต หรืออำเภอ
3 มอบอำนาจผ่านการรับรองจากทนายความ พร้อมถ่ายบัตรวิชาชีพทนายความที่มีอายุรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลายเซ็น
* กรณีที่อยู่ในประเทศไต้หวัน สามารถมอบอำนาจได้ ดังต่อไปนี้
1 หนังสือมอบอำนาจที่ผ่านกงสุลไทยที่ไทเปรับรอง
2 หนังสือมอบอำนาจที่ผ่านศาลท้องถิ่นไต้หวันรับรองหรือผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน
กรณีที่เจ้าตัวอายุไม่ถึง20ปี จะต้องให้ผู้ปกครอง เช่น พ่อ แม่ ยื่นแทนพร้อมเอกสารแสดงความสัมพันธ์
** กรณีอายุครบ 20 สามารถให้ พ่อ แม่ พี่ น้อง มายื่นแทนใช้เอกสารแสดงความสัมพันธ์พร้อมบัตรประจำตัวของ
ผู้มายื่นแทน ไม่ต้องมอบอำนาจ
= ผมแนะนำให้ไปยื่นด้วยตัวเองดีกว่าครับ ตัดปัญหาและไม่เสียเวลานั่งเขียนใบมอบอำนาจ เพราะว่าเราจะต้องกลับมาอีกครั้งเพื่อขอวีซ่าต่อหลังจากที่มหาลัยตอบรับแล้ว แต่ถ้าไม่สามารถจริงๆ ดำเนินการตามข้างบนเลยครับผม

5.กรอกแบบฟอร์มคำร้องรับรองเอกสาร ขอรับแบบฟอร์มได้ฟรี หรือ download จาก www.taiwanembassy.org/th
(กรอกแบบฟอร์มให้ครบ สำหรับผู้รับมอบให้กรอกช่องด้านล่าง )
=เข้าไปกรอกแล้วปริ้นท์กันออกมาเลยจ้า

6. ค่าธรรมเนียมชุดละ 450 บาท ใช้เวลา 2 วันทำการ ไม่นับวันยื่น กรณี เร่งด่วน ใช้เวลา 1 วันทำการ ชุดละ 680
=สำหรับคนที่อยู่ต่างจังหวัดและมีระยะเวลาจำกัด ผมแนะนำให้ทำแบบด่วนครับผม (ยื่นเช้าได้ช่วงบ่าย) เพราะว่าจะประหยัดเวลากว่ามาก แต่ถ้าไม่รีบจะอยู่แวะเที่ยวกรุงเทพ หรือว่าอยู่กรุงเทพอยู่แล้วยื่นแบบธรรมดาก็ได้ครับผม

7. เวลายื่นเรื่อง 09.00-11.30 น. การรับเอกสาร ตามวันที่นัดซึ่งระบุในใบเสร็จรับเงิน เวลา 13.30-15.00 น.
(กรณีเอกสารมีปัญหาต้องแก้ไข (หลังจากนำเอกสารที่แก้ไขพร้อมสำเนามาแล้วจะนัดรับเอกสารในวันถัดไปในช่วงเวลารับเอกสาร)
= ผมแนะนำว่าให้เดินทางไปถึงตั้งแต่ 8:30 ไปเพราะว่าจะได้ไม่ต้องต่อคิวนานครับผม ขืนไปช่วงใกล้ๆพักเที่ยงคนจะเยอะมาก เผลอๆจะไม่ทันเอา และช่วงบ่ายก็เช่นเดียวกันครับ เพราะว่าจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาต่อคิวครับผม โดยถ้าไม่สามารถมารับได้ด้วยตัวเองได้ สามารถเอาใบเสร็จรับเงินให้คนอื่นมารับแทนได้ครับผม ย้ำนะครับ ต้องใช้ใบเสร็จรับเงิน เพราะว่าถ้ามาตัวเปล่า เค้าก็ไม่ปล่อยเอกสารออกมาให้เราจ้า


สำหรับคนที่ทำวีซ่าเพื่อที่จะไปท่องเที่ยว ต้องใช้เอกสารตามนี้เลยครัช1. หนังสือเดินทาง (passport)  มีอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน (สำเนา 1 ชุด + ตัวจริง)
2. รูปถ่ายสีขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป
3. ทะเบียนบ้าน   (สำเนา 1 ชุด + ตัวจริง)
4. บัตรประชาชน  (สำเนา 1 ชุด + ตัวจริง)
5. หนังสือรับรองการทำงาน และสลิปเงินเดือน / ถ้าเป็นเจ้าของกิจการก็เอาหนังสือรับรองการจดทะเบียนกรรมการมาแสดง (สำเนา + ตัวจริง)
6. หลักฐานการเงินจากธนาคาร หรือสมุดบัญชีเงินฝากถ่ายเอกสาร ย้อนหลัง 6 เดือน (สำเนา 1 ชุด + ตัวจริง)
หมายเหตุ: บางคนสงสัยและถามกันเข้ามาว่าต้องมีเงินในบัญชีเท่าไหร่ ผมขอตอบเป็นกลางๆว่า 1.5หมื่น~5หมื่นนะครับ
เพราะว่าผมเองก็เอาใส่ไว้ในช่วงนั้นเหมือนกัน และต้องถามธนาคารให้ดีด้วยว่าสามารถออกให้สำหรับขอวีซ่าไต้หวันได้รึเปล่าเพื่อความชัวร์ครับ 

7. เงินค่าธรรมเนียม เข้าครั้งเดียว= 1,500 หลายครั้ง= 3,000 บาท (ใช้เวลาอนุมัติ 3 วันทำการ) เร่งด่วนแบบเข้าคั้งเดียวเพิ่ม 800 บาท/ หลายครั้งเพิ่มอีก 1,500 บาท 
(อัพเดตข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2559)

เล่ามาจนถึงตรงนี้ทุกคนคงจะสงสัยว่า………………..แล้วกงสุลอยู่ไหน????
 
ที่อยู่ของกงสุล อยู่ตามนี้เลยจ้า
ชั้น 20 เอ็มไพร์ทาวเวอร์ (Empire Tower) 195 ถ.สาทรใต้ กทม. 10120
โดยถ้ากลัวหลงสามารถโทรไปถามข้อมูลก่อนได้ที่เบอร์ : 0-2670-0200-9 / Fax : 0-2670-0220
โดยลงที่สถานีช่องนนทรี ออกทางออกหมายเลข
5 แล้วเดินต่อไปอีกหน่อยก็จะถึง โดยแลกบัตรประชาชนที่ประชาสัมพันธ์ข้างล่างแล้วขึ้นไปเลยครับผม

ซึ่งหลังจากที่เรารับเอกสารมาแล้วก็ให้เราแสกนแล้วอัพโหลดส่งไปให้ทางมหาวิทยาลัยเพื่อประกอบการพิจารณา ว่าจะรับเราเข้าไปเรียนหรือเปล่า ซึ่งเราต้องติดตามผลจากเว็บไซต์ OIA ของทางมหาวิทยาลัยด้วยตนเอง และหลังจากที่ประกาศชื่อแล้ว เราต้องไปกดยืนยันว่าเราจะเข้าเรียน หลังจากนั้นก็จะเป็น ขั้นตอนของการเตรียมตัวเข้าไปศึกษาที่รั้วมหาวิทยาลัยต่อ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็จะส่งรายละเอียดและแจ้งให้เราทราบเป็นพักๆ แต่ผมแนะนำว่าควรจะติดตามรายละเอียดโดยการเข้าไปเช็คที่ OIA ทุกวัน เช้ากลางวันเย็น จะทำให้ทุกอย่างเพอเพ่คและไม่พลาดรายละเอียดเกี่ยวกับผลประโยชน์ของตัวเราเองจ้า

Credit: ขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป พี่หมี อดีตประธานสมาคมนักเรียนไทยเฉิงต้าปี 2011-2012 
เพจสมาคมนักเรียนไทยในไต้หวัน (TSAT) และเพจสมาคมนักเรียนไทยเฉิงต้า (TSA-NCKU) ครับบ

หมายเหตุ* รอบ Fall semester ของ National Cheng Kung University และอีกหลายๆมหาวิทยาลัยกำลังจะเปิดให้สมัครตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นไป ใครสนใจ ควรเริ่มติดตามกันได้แล้วครับผม :)


Highlight Summary:
- เอกสารที่เตรียมไปอย่าลืมตรวจทานซ้ำ เพราะว่าทางสำนักงานการค้าฯจะเปิดเป็นรอบๆ พลาดแล้วพลาดเลยต้องไปรออีกรอบ
- ตึกอยู่เอ็มไพร์ทาวเวอร์ สาธร
- ปัจจุบันไปเที่ยวไม่ต้องขอแล้ว แต่ว่าเรียนยังต้องขออยู่
- สำหรับคนที่ไปเรียนภาษาก่อน แนะนำให้ตรวจสอบกับทางสถาบันภาษาก่อนว่าต้องยื่นเรื่องขอวีซ่าแบบไหน


Credit: ขอขอบคุณข้อมูลและรูปประกอบจาก Google, NCKU และ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ครับ

ตามไปดูชีวิตไร้สาระประจำวันของคนเขียนได้ที่ Instragram: @puipuiiadventure

ปล. ถ้าเขียนไม่ดี ติดขัดตรงไหนสงสัยอะไรสอบถามกันเข้ามาได้ตรงที่คอมเม้นท์เลยเหมือนเดิมนะก๊าบบ ขอบคุณก๊าบบบ

Thursday, January 8, 2015

ตอนที่5 :ไปวิ่งกันเถอะ ไปวิ่งกันเถอะ (เตรียมเอกสาร)



สวัสดีครัชพ่อแม่พี่น้องทุกท่านนน!!!
หลังจากที่คราวก่อนได้พิมพ์ถึงวิธีการเลือกมหาวิทยาลัย รวมไปถึงทุนการศึกษาที่ทางประเทศไต้หวันได้เปิดให้ชาวต่างชาติได้ยื่นขอไปแล้วนั้น (ใครที่ยังไม่ได้อ่าน สามารถกลับไปย้อนอ่านได้นะ ตั้งแต่ตอนแรกเลยก็ดี นะ นะ) คราวนี้ผมจะขอพูดในส่วนของการเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการเข้าเรียนกันนะครัชช
ในหลายๆประเทศในซีกโลกตะวันตก อย่างที่เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ทุกคนจะทราบกันดีว่าจะต้องมีการสอบวัดระดับภาษาสุดหินอย่าง TOEFL และ IELT ซึ่งเป็นการสอบวัดระดับทางภาษาที่ค่อนข้างโหด หิน และเหี้ยม เทียบเท่ากับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันแบบย่อยๆ เพราะนอกจากเนื้อหาข้อสอบที่มาจากบทความและหนังสือเรียนทางวิชาการที่บางทีเจ้าของภาษาเองก็ยังสอบตกแล้ว(เพื่อนบอกมาอีกที ส่วนตัวคิดว่าน่าจะคล้ายๆกับที่นักเรียนไทยสอบตกภาษาไทย เอ๊าใครเคยตกวิชาภาษาไทยมาก่อนขอให้ยกมือขึ๊นน) แถมยังต้องทำข้อสอบให้เสร็จภายในระยะเวลาที่จำกัด(มาก) อีกต่างหาก  

การใช้คะแนนสอบวัดระดับนี้เป็นตัววัด เพื่อให้ทางมหาวิทยาลัยมั่นใจได้ว่า หลังจากที่รับเราเข้ามาเรียนแล้ว เราจะไม่ง่อยในการเข้าเรียนและดรอปออกก่อนเรียนจบหลักสูตร (กลัวว่าเอาเงินที่ทางมหาวิทยาลัยเสียไปเปล่าๆนั่นแหล่ะ) แต่สำหรับในประเทศทางฝั่งตะวันออกอย่างเราๆ หลายประเทศสามารถใช้คะแนน TOEIC ยืนแทน TOEFL ได้ ซึ่งข้อสอบจะมีความง่ายกว่าและมีความซับซ้อนน้อยกว่า TOEFL โดยต้องเช็คเงื่อนไขของแต่ละมหาวิทยาลัยดีๆว่าสามารถใช้คะแนนแทนกันได้หรือไม่ครับ

มหาวิทยาลัยในไต้หวันนั้น จะแบ่งภาคเรียน หรือปีการศึกษา หรือ เทอม(เออนั่นแหล่ะ รู้กันนะ) ออกเป็นสามช่วงใหญ่ๆ เหมือนบ้านเราคือ เทอม Fall Semester (หรือที่เรียกกันสวยๆว่า ภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วง อู๊ยยย ฟังดูญี่ปุ๊นนญี่ปุ่น)  เทอม Spring Semester (ภาคเรียน ฤดูใบไม้ผลิ) และ ฤดูร้อน (ภาคเรียนฤดูร้อน)<-จะวงเล็บทำไม
ซึ่งแต่ละภาคเรียนจะมีระยะเวลาประมาณดังนี้ครับ (อ้างอิงจากมหาวิทยาลัย NCKUจ้า)



Fall Semester:  ช่วงกลางเดือนกันยายน- ปลายเดือนมกราคม
Spring Semester: ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ (หลังจากเทศกาลตรุษจีน)- ต้นเดือน กรกฏาคม 
Summer Semester: ช่วงปลายเดือน กรกฏาคม-ต้นเดือนกันยายน

โดยปกติแล้วจะแนะนำให้สมัครเข้าเรียนในช่วง Fall Semester มากกว่า Spring semester เพราะจะเป็นไปตามปฏิทินกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีงานรับน้องใหม่และกิจกรรมของชมรมต่างๆจะค่อนข้างคึกคักกว่าในเทอมที่สอง และช่วงงานรับปริญญาก็จะเป็นไปตามแบบแผน ประเพณีของมหาวิทยาลัยกว่า ถ้าเราเข้าเรียนในช่วง Spring semester บางทียังไม่ทันคิดหัวข้อตัวจบ แต่ทางคณะก็จะให้เราไปยืนถ่ายรูปชูสองนิ้วพร้อมใบปริญญา(ปลอมๆ) ร่วมกับเพื่อนๆ Fall semester ด้วยเพราะถือว่าเป็นรุ่นเดียวกัน (ยิ่งบ้านเราจะถือเรื่องการใส่ครุยด้วย บางคนถึงขั้นเงิบหลังจากที่รู้เรื่องระเบียบการดังกล่าว)

สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโท หลายๆมหาวิทยาลัยจะมีการให้นักศึกษาเรียนเสริมในช่วงฤดูร้อนเพื่อปรับพื้นฐานให้กับนักศึกษาที่ไม่ได้เรียนมาตรงสาย โดยขึ้นอยู่กับสาขาวิชาที่เราจบมา เพราะบางคนจบตรงสายและเกรดสวยสามารถทำเรื่องขอยกเว้นไม่เรียนได้ ต้องเช็คกับทางฝ่ายวิชาการศึกษาของคณะในส่วนนี้ดีๆ ยกตัวอย่างเช่นมหาวิทยาลัย NCKU ภาควิชา IMBA ที่ผมเรียนอยู่ จะมีการเปิดเรียนช่วงฤดูร้อน โดย นักศึกษาจะต้องเรียนวิชา Statistic, Economic และ Accounting แต่เผอิญว่าคะแนนบัญชีกับคะแนนวิชาสถิติ สมัยเรียนปอตรี ผมไปจูงหมามาเดินเล่นในใบเกรดมากไป เลยต้องไปเรียนซ้ำกะเค้าด้วย T^T (ตั้งใจเรียนกันเถิดน้องๆ) 

ต่อมาเป็นเรื่องของเอกสารที่จำเป็นจะต้องใช้ยื่นเพื่อการสมัครเข้าเรียนต่อนะครับ ซึ่งในส่วนนี้ผมจะอิงจากประสบการณ์ของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละมหาวิทยาลัยครับผม โดยเอกสารที่ต้องใช้หลักๆจะมีดังนี้ครับ

1. ใบแสดงผลทางการศึกษา หรือที่เรียกกันว่าใบเกรด( Official Transcript)
ใบเกรดที่มีคะแนนรายวิชาต่างๆครบจบบริบูรณ์ทางการศึกษาแล้ว ซึ่งสำหรับคนที่กำลังคิดจะเตรียมตัวไปเรียน แต่ก็กำลังเรียนอยู่ พยายามอัพคะแนนวิชาต่างๆที่จำเป็นต้องใช้กับสาขาที่สนใจจะไปเรียนให้สูงๆไว้ เพราะว่าอาจจะมีกรณีหักหลังนักศึกษาเหมือนผมเกิดขึ้นได้ครับ (เศร้าแพรบ)  และใบเกรดนี้ต้องเป็นฉบับภาษาอังกฤษเท่านั้นนะครับผม 
สำหรับในส่วนนี้ ถ้าหากรู้ก่อนแล้วว่าคณะที่ตัวเองกำลังจะไปเรียนมีหลักสูตรภาคฤดูร้อน และเราไม่อยากเรียนซัมเมอร์ในวิชานั้นๆ บางคณะจะให้นักศึกษาเตรียม Course syllabus ฉบับภาษาอังกฤษของวิชาที่จะทำเรื่องขอยกเว้นไว้ด้วย เพื่อเปรียบเทียบเนื้อหาที่เราเคยเรียนมากับวิชาที่เปิดสอน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราเคยเรียนวิชา  business Accounting 101 มาแล้ว ให้เตรียม Course syllabus ของวิชานั้นมาพร้อมกับใบเกรดเรา เค้าจะดูว่าเนื้อหาที่เราเคยเรียนตรงกับวิชา Accounting ที่ทางเค้าเปิดสอนให้มากน้อยแค่ไหน และเกรดเราเป็นอย่างไร ถ้าเกรดเราดี เค้าจะทำการละเว้นวิชาเรียนให้ครับ


2. ใบปริญญาบัตรวุฒิการศึกษาที่สูงที่สุด (The Highest degree diploma)
คือใบปริญญาบัตรที่เราจบมาสูงสุดครับ เป็นใบเดียวกับที่เราเข้ารับจากงานรับปริญญานั่นแหล่ะ แต่ต้องเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นนะครับ ซึ่งบางมหาวิทยาลัยจะมีให้บริการจัดทำใบแปลปริญญา หรือใบปริญญาฉบับภาษาอังกฤษให้เรา ซึ่งเราสามารถเอาตัวนี้ไปประกอบการสมัครเรียนต่อได้ครับ

3. ใบรับรองสถานะทางการเงิน (Banking/Financial statement)
เอกสารตัวนี้ทางเราต้องไปยื่นขอกับทางธนาคารครับ สำหรับน้องๆที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตนเองขอให้ใช้บัญชีของบิดามารดรในการยื่นขอStatementนะครับ ซึ่งนอกจากตัวเอกสารจะต้องเป็นภาษาอังกฤษ โดยยื่นทำเรื่องกับทางธนาคารแล้ว ยังต้องเป็นบัญชีที่มีการเคลื่อนไหว (มีเงินเข้า-ออก) อย่างสม่ำเสมอ และมีเงินฝากอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 150,000 NTD หรือประมาณ หนึ่งแสนหกหมื่นบาทไทย (เหลือๆ) อีกด้วยครับผม เพราะจะเป็นเอกสารที่แสดงว่าเรามีเงินมากพอที่จะใช้ในการเรียน และการดำเนินชีวิตตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่ในประเทศไต้หวัน ไม่ดรอปออกจากการเรียนแล้วไปหางาพิเศษทำ หรือว่าลักลอบทำงานผิดกฏหมาย ไม่หนีเข้าเมืองเค้าครับ ซึ่งต้องตรวจเช็คกับทางธนาคารแต่ละแห่งว่ามีที่ไหนรับทำบ้าง ซึ่งเอกสารตัวนี้ใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่ 3-7 วันครับ (สำหรับผมใช้ธนาคารสีม่วงในการยื่นขอใบครับ) 
สำหรับเอกสารที่กล่าวมา สามอย่างเบื้องต้นนั้น หลังจากที่ได้รับเอกสารมาอยู่ในมือแล้ว เราจะต้องไปทำเรื่องยื่นขอรับรองเอกสารที่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการฑูตต่างๆระหว่างประเทศไต้หวันและประเทศไทย โดยดูแลในเรื่องของการทำวีซ่า รับรองเอกสาร และดูแลคนไต้หวันในเมืองไทยและคนไทยที่อยู่ในไต้หวันครับ เพื่อยืนยันว่าเอกสารที่เราจะยื่นให้กับทางมหาวิทยาลัยนั้น สามารถเชื่อถือได้และมีอยู่จริง
 (รายละเอียดเกี่ยวกับการรับรองเอกสารและขอวีซ่าจะอยู่ในหัวข้อถัดจากนี้ในเรื่องของสถานฑูตทั้งหมดนะครับ)

4. จดหมายแนะนำตัว (Recommendation letters)
จดหมายฉบับนี้จะถูกเขียนขึ้นโดยผู้ที่เป็นหัวหน้าเรา อาจารย์ที่ปรึกษา หรือผู้ใหญ่ที่ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเราทางสายเลือด (เกี่ยวก็ได้แต่ควรจะมีนามสกุลที่ต่างกับเรา) เพื่อที่จะรับรองว่าพฤติกรรมของเราสามารถปล่อยให้ไปอยู่ต่างประเทศได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น รวมไปถึงเป็นการเล่าเกี่ยวกับตัวเราจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เรา ในส่วนนี้ผมแนะนำว่าให้ อาจารย์ที่ปรึกษาที่รู้จักเราหรือสนิทกับเราเป็นผู้เขียนเพื่อที่เค้าจะได้เขียนตรงกับความเป็นตัวเราที่สุด หรืออาจจะรบกวนขออาจารย์ที่มียศทางวิชาการที่สูง ถ้าได้รองคณบดี หรือคณบดี หรือจะอธิการไปเลยจะดูดีมีชาติการ์ตูน เอ๊ยยย ตระกูลมาก กว่าอาจารย์ปกติ หรืออาจจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสายงานของเรา เพราะจะทำให้โพรไฟล์ของเราดูดีขึ้น เพราะเราจะดูเหมือนว่ามีคนใหญ่คนโตที่เก่งกาจคอยให้ความช่วยเหลือ ดูแลเราอยู่ครับ

5. สำเนาหนังสือเดินทางและบัตรประชาชน
บางมหาวิทยาลัยต้องการให้เราส่งมาเพื่อยืนยันว่าเราเป็นประชาชนชองชาตินั้นๆจริงๆ แค่นั้นเองจ้า

6. การวางแผนในการเรียนและประวัติส่วนตัวอย่างย่อของเรา (Autobiography and Study plan)
ในส่วนนี้จะเป็นเหมือนการเรียงความในแบบย่อๆ ประมาณ 1-2 หน้าเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเค้าต้องการทราบถึงประวัติของตัวเราเอง ความสนใจ และตัวตนของเรา รวมไปถึง เหตุการณ์ที่เราได้ผ่าน หรือประสบความสำเร็จจนถึง ณ ปัจจุบัน(ขอเน้นงานใหญ่ๆ เช่นมีตำแหน่งในสภานักเรียน หรือว่าชนะการประกวดระดับใหญ่ๆ หรือว่าเป็นสมาชิกสมาคมต่างๆแล้วสร้างคุนงามความดีให้กับหน่วยงาน อันนี้ควรใส่ครับ ส่วนประเภทไปร่วมค่ายคุณธรรม หรือเข้าร่วมงานรับน้องมหาวิทยาลัย ตอนอยู่ปีหนึ่ง หรือว่ากีฬาสี อันนี้ไม่ต้องใส่นะ ได้โปรด) ซึ่งจะแบ่งให้ดูแบบง่ายๆดังนี้ครับ

ควรเขียน
- เข้าร่วมกิจกรรมงานใหญ่ๆระดับชาติ
-เป็นส่วนหนึ่งของสโมสรนักศึกษา สภานักเรียน หัวหน้าโครงงานใหญ่ๆ
- จุดเปลี่ยนของชีวิต/เหตุการณ์ อะไรที่ทำให้เราอยากทำงานในอนาคตที่คิดไว้ หรืออะไรที่ทำให้เราอยากเรียน MBA
- มองเห็นตัวเองในอีก 3-5 ปีข้างหน้าเป็นยังไง หรือว่าวางแผนอนาคตเป็นยังไง
- เพื่อนๆมองเราว่าเราเป็นคนยังไงจากที่เค้าพูดกัน
- สิ่งที่ชอบ หรือมีปรารถนาแรงกล้า(passion) ในด้านไหนเป็นพิเศษ (สั้นๆนะจ๊ะ)
ไม่ควรเขียน
-เรื่องของพ่อแม่ เช่นชื่อ อายุ, การงานสามารถใส่ได้ถ้ามันเป็นแรงบันดาลใจของเรา
- มีพี่น้องกี่คน เค้าอยากจ้างเรา ไม่ได้อยากจ้างพี่น้องหรือว่าพ่อแม่ของเราจ้า
- ไปเข้าค่ายคุณธรรม เข้าร่วมงานรับน้อง ไปวิ่งงานกีฬาสี งานอดิเรก ว่ายน้ำตกปลาทำสปา ไม่ต้องไปบอกเค้าจ่ะ
- สำหรับแพลนในอนาคต ไม่ต้องเล่าว่าจะแต่งงานมีลูกกี่คน เลี้ยงลูกยังไง เอาแค่ความก้าวหน้าในส่วนของการงานก็พอจ้า เช่นอยากเป็นเจ้าของกิจการ หรือจะทำงานในองค์กรไหนก็ว่ากันไป

สำหรับในส่วนของ Study plan จะเน้นไปในเรื่องส่วนที่ว่าเราวางแผนการเรียนของเรามายังไง มีเรื่องหรือหัวข้อไหนที่เราสนใจ หรือต้องการทำเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์เป็นพิเศษหรือไหม่ และเรามีทัศนคติของเราต่อการเรียนในสายวิชาที่เราเคยเรียนและต้องการจะเรียนเป็นอย่างไร เพราะว่าในส่วนนี้จะส่งผลการเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเรา และส่งผลไปถึงการเลือกลงวิชาเรียนของเราด้วยครับ 

ซึ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะเป็นเอกสารหลักๆที่สำคัญ ที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะต้องให้เรานำส่งประกอบการสมัครเรียน ซึ่งเราต้องทำการกรอกใบสมัครเรียนและใบยืนยันการสมัครเรียน (Declaration form) ในการยื่นสมัครเข้าเรียน ผมแนะนำให้อ่านรายละเอียดและเงื่อนไขของแต่ละหลักสูตรของมหาวิทยาลัยดีๆ ก่อนที่จะเซ็นชื่อลงในใบยืนยันฉบับนี้ 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของขอบเขตระยะเวลาการให้ทุน วิชาที่จำเป็นต้องเรียนเพื่อทำเรื่องจบ เงื่อนไขการสอบวิทยานิพนธ์ การเลือกและจัดสรรอาจารย์ที่ปรึกษา รวมเอกสารที่จำเป็นอื่นๆที่ผมไม่ได้กล่าวถึงในโพสนี้ เพราะบางทีมันจะส่งผลที่มหาศาลถึงขั้นเปลี่ยนชีวิตนักเรียนทุนอย่างเราๆกันไปได้ เพราะฉะนั้นควรศึกษาให้ดีก่อนทำการลงทุนครับ :D

โพสหน้าจะเกี่ยวกับการติดต่อกับสถานฑูตทั้งหมดนะครับผม ขอบคุณคนที่ติดตามกันมาและพึ่งติดตามนะครับบ ถ้าคิดว่าเขียนดี ชอบ ช่วยโฆษณาให้เก๊าด้วยน๊าาาา ขอบคุณครับผ๊ม :))

Highlight Summary:
- ถ้ารู้ตัวว่าอยากไปเรียนที่ไต้หวัน อย่าลืมตรวจสอบรอบการเปิดรับสมัครของแต่ละทุนในเว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัย/องค์กรไว้ให้ดี
- ถ้าเลือกได้รอบว่าอยากเรียนภาคการศึกษาไหนแล้ว รีบไปสอบภาษาอังกฤษไว้เนิ่นๆไม่ว่าจะเป็น TOEIC/TOEFL
- เอกสารทุกอย่างที่ต้องส่งไปจะต้องเป็นภาษาอังกฤษและได้รับการรับรองเอกสารจากสำนักงานการค้าเศรษฐกิจไต้หวันแล้ว
- Recommendation Letters, Study Plan ควรเขียนเป้าหมายให้ชัด เพราะมีผลต่อหลายๆมหาวิทยาลัยในการเลือกเด็กเข้าเรียนด้วย


Puipui Adventure
#puipuiadventure

Credit: ขอบคุณรูปประกอบจาก Google, NCKU และ 9Gag ครับ

ตามไปดูชีวิตไร้สาระประจำวันของคนเขียนได้ที่ Instragram: @puipuiiadventure

ปล. ถ้าเขียนไม่ดี ติดขัดตรงไหนสงสัยอะไรสอบถามกันเข้ามาได้ตรงที่คอมเม้นท์เลยนะก๊าบบ ขอบคุณฮับบบ
ปล.2 สำหรับใครที่ไม่รู้จะเริ่มเขียน Study plan หรือ Autobiography ยังไง ลองสอบถามอากู๋เกิ้ลได้เลยจ้า เพราะมีตัวอย่างและไอเดียในการเขียนแจกจ่ายให้เป็นตัวอย่างอยู่เต็มไปหมดเลยครับ